วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คนรวยๆ เขาลงทุนอะไรให้ปลอดภัยจากมรสุมเศรษฐกิจ

คนรวยๆ เขาลงทุนอะไรให้ปลอดภัยจากมรสุมเศรษฐกิจ

วรวรรณ ธาราภูมิ
CEO บลจ.บัวหลวง

23 ตุลาคม 2555

เมื่อคิดจะหาแหล่งหลบภัยในการลงทุนหากเกิดเหตุร้าย บางคนอาจจะคิดถึงการถอนเงินฝากและเงินลงทุนมาเก็บในเซฟที่บ้าน เรียกว่าไม่ไว้ใจใครแล้วนอกจากตัวเอง เลยฝังตุ่มบ้านเรานี่ละ

แต่เก็บไปเก็บมา ราขึ้น แบงค์เปื่อย หรือน้ำท่วมตู้เซฟจนความแตก เลยโดนข้อหาร่ำรวยผิดปกติไปก็มี

หรือเก็บไปเก็บมา ค่าเงินบาทโดนลดไป 50% อ้าวหายรวยไปครึ่งนึง ทำไงดีล่ะ

มาถึงตรงนี้ บางคนอาจนึกออกแล้วว่าควรเก็บเป็นทองคำไว้บ้าง เพื่อให้คงคุณค่าและอำนาจซื้อไว้ หรือเวลามีสงครามใหญ่ก็เอามาทยอยขายแลกปัจจัยสี่ห้าหก ตามแบบคุณปู่มาคิยงของลุงมาร์ค ฟาเบอร์ ที่เหรียญทองคำช่วยให้รอดชีวิตจากความทารุณในช่วงสงครามมาจนมีพ่อลุงมาร์ค แล้วก็มีผลผลิตมหัศจรรย์อย่างลุงมาร์ค ที่ออกมาด่าการเมืองในสหรัฐมาจนถึงวันนี้

แต่คนที่รวยมากๆ เขาไม่ได้มองแต่ทองคำกันหรอก หมายถึงคนที่รวยจนล้นเหลือ รวยจนเบื่อที่จะมีแต่ทองคำ คนกลุ่มน้อยนิดนี้เขามีทางเลือกอื่นเพิ่มเติม

แถมตา Jim O’Neill ประธานกรรมการ Goldman Sachs Asset Management. ยังออกมาบอกว่า “ความคิดที่เชื่อว่ามี Safe Haven หรือแหล่งปลอดภัยตลอดกาลที่จะเอาความมั่งคั่งของเราไปลงทุน มันเป็นอันตราย”

เอ้า ยังอ่านไม่จบ อย่าเพิ่งร้องกรี๊ดขยับปีกที่ไหม้ไปแล้วครึ่งนึง บินพรึ่บๆ ตาลีตาเหลือก ออกไปขายทองคำทิ้งเพราะคำพูดตา Jim กันล่ะ ก็ที่เขาพูดนั้น เขาหมายถึงพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันต่างหาก

จริงอยู่ ทองคำเป็น Safe Haven ที่คนทั่วโลกนิยมกันมากที่สุด เพราะทองคำสามารถดำรงอำนาจซื้อไว้ได้ และไม่เสื่อมคุณค่าของตัวมันเอง แต่ทองเป็นก้อนๆ เป็นแท่งๆ หรือเป็นเหรียญจำนวนมากๆ มันก็หนักนะ ยกเว้นพวกที่ซื้อกองทุน ETF ทองคำ ที่ไม่ต้องเก็บรักษาเอง อย่างนี้ก็ไม่หนัก

แต่เศรษฐีเขายังหนักใจกัน เพราะกลัวว่า เอ... ถ้าเกิดอะไรขึ้นแล้วโดนรัฐยึดทองคำไว้ ทีนี้จะทำยังไงกันล่ะ

ดังนั้น เศรษฐีที่ร่ำรวยมากๆ ก็เลยคิดกันว่ามีแต่ทองคำก็อาจจะไม่ปลอดภัย ก็ดูอย่างตาฮูโก้ ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซูเอลลาสิ เขายังเอาทองคำสำรองของรัฐบาลเวเนซูเอลลากว่า 211 ตันที่เคยเก็บไว้ในธนาคารยุโรปกับสหรัฐอเมริกาใส่เรือกลับคืนประเทศเมื่อเดือน พย ปีก่อนเลย คงเพราะกลัวว่ารัฐบาลตะวันตกจะเข้าตาจน แล้วจะยึดเอาทองคำไป

เอ้า พวกเราที่มีทองเล็กๆ น้อยๆ ผ่านการลงทุนในกองทุนทองคำ ถ้าจะแตกตื่นตามตาฮูโก้ ชาเวซ ก็ตามใจ ไม่ว่ากัน แต่ต้องถามตนเองก่อนว่าถอนออกมาแล้วจะเอาไปซื้อทองคำอีกไหม ซื้อแล้วจะเอาไปเก็บที่ไหน หรือจะใส่เป็นทองรูปพรรณกันให้เต็มคอ แล้วมันจะปลอดภัยไหม หรือจะเปลี่ยนเป็นเงินสด หรือจะไปลงทุนอย่างอื่น

คิดไปคิดมาชักปวดหัว เพราะจะเก็บเป็นเงินสด เงินฝาก ตราสารหนี้ หรือพันธบัตร ก็กลัวเสื่อมอำนาจซื้อจากเงินเฟ้อ จะซื้อหุ้นก็กลัวเจ๊ง อย่ากระนั้นเลย สู้เอาเงินที่เก็บหอมรอบริบนี่ไปช็อปปิ้งกันให้สบายใจดีกว่า

เอา จะทำอะไรก็ทำ เงินใครเงินมันอยู่แล้ว ขอแต่ว่าถ้าพลาดพลั้งไปก็อย่ามากระพือปีกไหม้ๆ ร้องไห้กระซิกๆ ให้เห็นแล้วกัน

เรื่องที่เศรษฐีตัวจริงเขาสะสมเงินที่ล้นเหลือไปไว้ที่ไหนกันบ้างนั้น ต้องบอกว่ามีหลายอย่างเลย นอกจากทองคำแล้ว เศรษฐียังสะสมงานศิลปะ วิสกี้ ไวน์ เหรียญโบราณในสกุลเงินประหลาดๆ ที่คนไม่ค่อยรู้จักกัน และอื่นๆ อีกมาก

แต่จะสะสมอะไรก็ว่ากันไป อย่าไปสะสมกิ๊ก เพราะนอกจากจะเป็นอันตรายต่อชีวิตหากคุณนายรู้แล้ว กิ๊กยังมีแต่เสื่อมค่าลงไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา คุณผู้ชายอย่ามาเถียงเป็นอันขาดนะ

ตัวอย่างการลงทุนของเศรษฐีอเมริกัน
----------------------------------------

1. พันธบัตรรัฐบาลคานาดา (Canadian Bonds)

Financial Post รายงานว่า มีการซื้อ Canadian Bond กันมากขึ้นจนทำสถิติสูงถึง 16,700 ล้านคานาเดียนดอลลาร์ ในเดือนพฤษภาคม 2555

เรื่องนี้ Jeff Herold กับ Maria Berlettano ผู้เป็นผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ของ J. Zechner Associates บอกว่า ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ที่มีความกังวลเรื่องวิกฤติในยุโรปได้หันไปหาแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยผ่าน Canadian Bond ซึ่งรักษาอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AAA เอาไว้ได้

เศรษฐีก็ทำได้เช่นกัน

2. Scandinavian Bonds

ยิ่งสถานการณ์กลุ่มยูโรแย่ลง พันธบัตรของ Sweden, Norway และ Denmark ก็ยิ่งมีราคาตลาดสูงขึ้น เพราะมีฐานะการเงินการคลังที่แข็งแรงกว่ามาก

เรื่องนี้ DNB ซึ่งเป็นธนาคารใน Norway ถึงกับออกพันธบัตรรุ่นพิเศษมารองรับความต้องการของผู้ลงทุนสถาบันจากต่างประเทศและบรรดาเศรษฐีเมืองนอกที่แห่กันมาซื้อทีเดียว

Rob Stewart ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้และเงินตราต่างประเทศ ที่ Rothschild Wealth Management ยังถึงกับออกมาประกาศว่า Sweden, Norway และ Denmark เป็นที่ที่ปลอดภัยใน การลงทุนและมีพันธบัตรที่แข็งแรงมั่นคง

3. Japanese Yen

Wall Street Journal รายงานว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ ธนาคารกลางทั่วโลกได้เพิ่มทุนสำรองของตนด้วยการการลงทุนในเงินเยนของญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นถึง 22% เพราะค่าเงินเยนแข็งขึ้นมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงทำให้ตลาดคาดกันว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องต่อสู้ให้ค่าเงินเยนอ่อนลง มิฉะนั้นการส่งออกจะลำบาก

J.P. Morgan ก็ได้แนะนำให้ลูกค้าซื้อเงินเยนในช่วงเศรษฐกิจกำลังเป็นขาลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของญี่ปุ่นเป็นศูนย์ อัตราดอกเบี้ยปล่อยกู้ก็ต่ำมากด้วย ทำให้มีการกู้เงินสกุลเยนในต้นทุนต่ำเพื่อเอาไปลงทุนในตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า (Yen Carry Trade) และเมื่อถึงกำหนดคืนเงินเยนที่กู้มา (Deleveraging) ก็จะมีการหาเงินเยนมาคืนเจ้าหนี้ ทำให้สามารถทำกำไรจากการลงทุนในเงินเยนได้

3 อย่างข้างต้นนั้น จัดเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets)

แต่ยังมีสินทรัพย์จริงที่จับต้องได้ (Non-financial Assets) ที่บรรดาเศรษฐีนิยมลงทุนกันอีกหลายอย่าง เช่น

1. ที่ดินการเกษตร

ที่ดินการเกษตรเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยและทรงคุณค่า เพราะมีปริมาณจำกัด ในขณะที่มีคนต้องการเพิ่มขึ้นเสมอ

Tom Eisenhauer ผู้เป็น President ของ Bonnefield Financial ชี้ว่า ราคาที่ดินการเกษตรสามารถต้านทานเงินเฟ้อได้ดีกว่าทองคำ ในขณะที่ Simon Black บอกว่า ที่ดินการเกษตรเป็นการลงทุนที่ดีในการต้านทานเงินเฟ้อเพราะความต้องการอาหารมีแต่จะเพิ่มขึ้น และ John Taylor หัวหน้าฝ่าย Farm and Ranch ของ U.S. Trust ยืนยันว่า มีมมุมมองว่าที่ดินการเกษตรจะเป็นตลาดกระทิง เพราะขนาดไม่มีข่าวดีเลยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แถมยังมีแต่ข่าวร้ายๆ ราคาก็ยังขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งยังขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตอีกด้วย

2. ไม้

อะไรนะ ไม้น่ะเหรอ

ใช่ ไม้จริงๆ นั่นแหละ หมายถึง ไม้แผ่น ไม้ซุง

ไม้เป็น Soft Commodity ชนิดหนึ่งด้วย และการลงทุนในไม้ก็มีประวัติศาสตร์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีมากโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อเช่นกัน

Larry D. Spears บันทึกไว้ว่า การลงทุนในไม้ที่สหรัฐอเมริกาให้ผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 22% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 1973 ถึง 1981 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงเดียวกันเป็น 9.2%

ส่วน R. Dennis Moon กรรมการผู้จัดการ ของกลุ่มบริหารสินทรัพย์พิเศษของ U.S. Trust เล่าว่า แม้ตลาดบ้านในสหรัฐจะฟุบมาหลายปี แต่เขามีลูกค้ารายหนึ่งใน Long Island ที่ลงทุน 50 ล้านดอลลาร์ ในพื้นที่ที่มีไม้ใหญ่

อย่างบ้านเราก็น่าคิด ถ้าเป็นพื้นที่ว่างเปล่าในต่างจังหวัดไกลๆ ที่ปลูกสักทองได้ ก็น่าปลูกไว้ เพื่อให้ลูกเก็บกินในอีกสัก 30-40 ปีข้างหน้า คล้ายๆ กับฝากออมสินไว้ให้ลูกนั่นแหละ แต่ก่อนตัดต้องไปขออนุญาตจากรัฐก่อนนะ

3. ปืน

การสะสมปืนสามารถดำรงคุณค่าได้ (เพราะราคาขึ้นไปตามเวลา) เศรษฐีเลยนิยมสะสมปืนและกระสุนกันมาก

ตัวอย่างก็คือ ราคาของปืน Remington .223 ที่อ้างอิงจาก ammo.net มีราคาขึ้นจากปี 1999 ถึง 2011 ถึง 224% ชนะเงินเฟ้อในช่วงเดียวกันมากมาย

นอกจากนี้ Wall Street Journal ยังรายงานว่า ราคาปืนพุ่งกระฉูด เพราะคาดกันว่า Barack Obama จะได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง แล้วจะออกกฏหมายควบคุมอาวุธ และยังระบุว่ามีความต้องการปืนมากเกินกว่ากำลังการผลิตด้วย เห็นได้จากที่ Michael O. Fifer ผู้เป็น CEO ของ Sturm, Ruger & Co. ออกมาแถลงว่า บริษัทขอระงับการรับออร์เด้อร์ซื้อปืนไว้ชั่วคราว เพราะยอดขายในไตรมาสแรกปีนี้เกินกว่าที่คาดไว้มาก เลยผลิตไม่ทันความต้องการที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

เอ ... มีความต้องการขนาดนี้แล้วคงไม่ใช่ว่ามีแต่เศรษฐีซื้อแล้วละ และหากคนทั่วไปผสมโรงซื้อด้วยก็อาจหมายถึงความรุนแรงหรือความถี่ของอาชญากรรมในอเมริกาเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะโยงไปถึงเรื่องที่
รัฐบาลท้องถิ่นไม่มีเงินจ้างตำรวจเพียงพอก็ได้

4. นาฬิกา

เรื่องนาฬิกานี้ไม่ใช่ว่าทุกยี่ห้อจะลงทุนแล้วหวังผลกำไรในอนาคตได้เสมอไป คนที่ซีเรียสเรื่องการลงทุนในนาฬิกาจริงๆ จึงมักลงทุนใน Rolex กับ Patek Philippe เป็นหลัก เพราะเป็นยี่ห้อที่ขายออกได้คล่องที่สุด และได้กำไรดี ซึ่งอย่างหลังนี้บริษัทผู้ผลิตมีความเป็นอัจริยะทางการตลาดที่สามารถทำให้ยี่ห้อของตนที่เคยผลิตออกมามีราคาขึ้นมาโดยตลอด

เจ้าของร้านแอนทีคในลอนดอนชื่อ George Somlo ให้ข้อสังเกตุว่า การซื้อนาฬิกาข้อมือที่เป็นแอนทีคในช่วงเศรษฐกิจขาลงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเสมอ ซึ่ง Eric Engh ผู้จัดการเวบไซท์ Old Watch ก็ยืนยันว่า เมื่อนาฬิกาชั้นดียี่ห้อใด รุ่นใด เป็นที่นิยม ก็จะมีคนต้องการอยากจะครอบครองกันมาก และยอมจ่ายในราคาที่สูงลิ่ว

5. สแตมป์

Handbook of Personal Wealth Management เขียนเอาไว้ว่า แสตมป์เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ลงทุนประเภทจับต้องได้ (ไม่ใช่ Financial Assets อย่างหุ้นและพันธบัตร) ที่มี Record ว่าให้ ผลตอบแทนที่มั่นคงและดีมากมายาวนานที่สุด และถึงแม้สแตมป์จะบอบบาง ถูกทำลายได้ง่าย แต่แสตมป์เก่าๆ ก็มีค่าคล้ายๆ รถคลาสสิคที่คนนิยมสะสม หรือหนังสือการ์ตูนยอดนิยมเก่าๆ

มิน่า ลุง Bill Gross (PIMCO) ถึงได้สะสมแสตมป์มีค่าไว้ถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทีเดียว และส่วนมากก็ได้มาจากการที่ลุงเข้าไปประมูลช่วยการกุศลด้วย

นึกถึงหนังสือการ์ตูนเก่าๆ ที่เคยติดงอมแงมสมัยเด็กๆ อย่าง ขวานฟ้าหน้าดำ ชะมัด

เนี่ยะ ถ้าเก็บไว้ดีๆ ป่านนี้ก็สบายไปแล้ว

ดังนั้น เราก็อาจจะเริ่มสะสมสแตมป์ (ทั้งๆ ที่เดี๋ยวนี้เราติดต่อทางอินเตอร์เนตกันแล้ว) และสะสม การ์ตูนซุปเปอร์ไซย่า กันไว้ได้แล้ว

อ้าว อย่าเพิ่งหัวเราะว่าโลกไปยุคเทคโนโลยี่ eBook แล้ว จะให้เก็บไว้ทำไม

อย่าลืมสิ ต่อไปจะมีคนถวิลหาสิ่งที่ยึดโยงเราไว้กับอดีต จะมีคนอยากเงยหน้าขึ้นมาจาก Smart Phone เพื่อจับต้องกระดาษจริงที่มีแต่จะหายากขึ้นทุกที

ก็คงคล้ายๆ กับที่เราเห็นเครื่องพิมพ์ดีดโบราณ เห็นฉลากยาเก่าๆ แล้วทึ่ง อยากเป็นเจ้าของกันนั่น แหละ

6. งานศิลปะ

หลายคนคงไม่รู้ว่าในทศวรรษที่ผ่านมานี้ ดัชนี Mei Moses (ดัชนีสำคัญที่โลกใช้สำหรับงานศิลปะ) ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนี S&P500 ถึง 6 เท่า

กูรูด้านพันธบัตรอย่าง Jeff Gundlach ยังถึงกับบอกว่า งานศิลปะก็คือทองคำในเวอร์ชั่นที่พกพาไปไหนๆ ได้ (เพราะในราคาที่เท่าๆ กัน ทองคำจะหนักกว่า) โดยสามารถดำรงอำนาจซื้อได้เท่าๆ กับทองคำ

หากจะดูว่ากำลังซื้อในงานศิลปะและการลงทุนในงานศิลปะโดยเฉพาะภาพเขียนนั้นดีขนาดไหน วิธีดูที่ดีก็คือให้ไปดูราคางานศิลปะที่บริษัทประมูลปล่อยไปได้ กับดูยอดขาย ผลกำไร และราคาต่อหุ้นของบริษัทประมูล

ไปดูตัวอย่างที่ Sotheby อันเป็นบริษัทประมูลข้ามชาติเก่าแก่เป็นอันดับ 4 ของโลกซึ่งก่อตั้งในปี 1744 มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐ มีอีก 90 สำนักงานในอีก 40 ประเทศ ก็ได้

บริษัทนี้ทำธุรกิจประมูลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกของศิลปะการตกแต่ง เครื่องประดับ และของสะสม ซึ่งในปี 2011 มียอดขายทั่วโลก รวมถึง 5,800 ล้านดอลลาร์

ตั้งแต่ปี 2009 หุ้นของ Sotheby ได้ขึ้นจากจุดต่ำสุดในช่วงนั้นที่ 6.47 มาเป็น 30.58 ดอลลาร์ต่อหุ้น

แบบนี้จะเรียกว่าเป็นตลาดกระทิงของงานศิลปะก็ไม่ผิดหรอก

ก็ขนาดภาพเขียน Pop Art ของ Andy Warhol ยังมีคนประมูลไปได้ในราคาตั้งพันล้านบาท จนเดี๋ยวนี้ผลงานภาพเขียนของเขาหากคำนวณเป็น Market Cap. ก็น่าจะแซงเบอร์หนึ่งอย่าง ปิคาสโซ ไปแล้ว



7. เพ็ชร

Alan Landau ผู้เป็น CEO ของ Novel Asset Management ให้สัมภาษณ์ใน Bloomberg TV ว่า

“เพชรเป็นการลงทุนที่ยอดเยี่ยมและปลอดภัย แม้จะมีสภาพคล่องน้อยกว่าทองคำอยู่มาก แต่ราคาก็ไม่ผันผวนเท่าราคาทองคำ ทั้งยังกำลังเป็นที่สนใจในการลงทุนเพื่อหลบภัยจากค่าเงินดอลลาร์อีกด้วย”

ความจริงนอกจากเพ็ชรแล้ว พวกอัญมณีประเภทต่างๆ ก็ได้รับความนิยมในการสะสมเพิ่มขึ้น

มีคนบอกว่า นอกจากคุณค่าในเชิงการลงทุนที่ดีแล้ว เพ็ชรและอัญมณี มีมนตรามหาเสน่ห์ให้คนหลงไหลในความงดงามอย่างถอนตัวได้ลำบาก

จริงเท็จอย่างไร ลองจุดธูปถามคุณป้า Elizabeth Taylor ดูก็ได้ ก็ Jewelry Collection ของเธอที่เปิดประมูลไปเมื่อเร็วๆ นี้ทำให้คนที่ได้ดูแม้เพียงรูปยังอ้าปากค้าง แม่จ้าว อะไรมันจะอลังการงานสร้างและมีเป็นจำนวนมากได้ถึงขนาดนั้น

ลองไปดูงานประมูลเพ็ชรที่ทำสถิติราคาสูงสุดกันบ้าง

Christie’s รายงานว่า เพ็ชรสีชมพูขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยออกประมูล ชื่อ The Martian Pink เพ็ชรเม็ดนี้หนัก 12.04 กะรัต และมีคนประมูลไปเมื่อเดือน พ.ค.2012 ไปแล้ว ในราคา 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 527 ล้านบาท คร่าวๆ ก็กะรัตละ 45 ล้านบาท

คนทั่วไปทำงานมาทั้งชีวิตยังมีเงินเก็บไม่ได้ครึ่งของ 1 กะรัตเลย

การที่เพ็ชรเม็ดนี้ขายได้ราคาสูงกว่าที่ประเมินราคาเป็นเท่าตัว แสดงว่า ไม่ว่าเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จะทำร้ายผู้คนจำนวนมากได้อย่างไร เศรษฐีตัวจริงย่อมเป็นข้อยกเว้น

เมื่อ 1 ธ.ค. 2009 แหวนเพ็ชรสีชมพูขนาด 5 กะรัต ถูกขายไปงานประมูลของ Christie’s Hong Kong ในราคา 10,776,660 ดอลลาร์สหรัฐ (334 ล้านบาท)

โอย ... กะรัตละแค่ 66 ล้านบาทเท่านั้นเอง

เป็นสถิติราคาเพ็ชรต่อกะรัตที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการประมูล โดย Vickie Sek ผู้อำนวยการ Christie’s Asia บอกว่า แหวนวงนี้เป็นดวงดาวที่ส่งประกายระยิบระยับที่สุดในงาน และ 8 ใน 10 คนที่ประมูลเพ็ชรพลอยไปได้เป็นนักสะสมชาวเอเชีย

หากเดินทางไปต่างประเทศแล้วหมั่นซอกแซก ถามไถ่ สังเกตุสังกาผู้คนกับสิ่งแวดล้อม เราก็จะได้ข้อมูลดีๆ มากมาย และสะท้อนอะไรๆ ที่เป็นของจริงได้มากกว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาอีกด้วย

อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ที่ไป South Africa คนพื้นเมืองเล่าว่าแต่ก่อนนักท่องเที่ยวจะเป็นชาติตะวันตกมากที่สุด เดี๋ยวนี้ลดลงไปมาก แต่ได้คนจีน คนอินโดเนเซีย เกาหลี และตะวันออกกลาง มาทดแทน

ส่วนร้านขายเพ็ชรเล่าว่า เดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวจากตะวันออกซื้อเพ็ชรพลอยมากกว่าคนตะวันตกแล้ว

ตอกย้ำประโยคที่ว่า ....

“คนเราจะรวยจะจนนั้น ไม่มีคงทนถาวร แต่เพ็ชรพลอย ทองคำ ซึ่งเป็นความมั่งคั่ง แม้จะเปลี่ยนมือไปได้เรื่อยๆ ก็จะไหลไปอยู่ในมือของคนรวยๆ เสมอ”

8. สุรา

มันน่าสนใจมาก เพราะเราอาจไม่ค่อยรู้กันว่า คนอเมริกันในยุคก่อนใช้วิสกี้แทนเงินในการแลกเปลี่ยนสินค้า เหมือนพวก Aztecs ใช้เมล็ดโกโก้ไปแลกสินค้าอื่นๆ แบบ Barter Trade

นอกจากนี้ นิตยสาร SWAGได้รวมไวน์เข้าไว้กับพวกแร่เงิน งานศิลปะ และทองคำ ในฐานะที่เป็นโอกาสในการลงทุนที่ช่วยต้านเงินเฟ้อได้ด้วย

และ Peter Luzer ผู้บริหากองทุนไวน์ (Wine Investment Fund) คาดว่า กองทุนของเขาจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ 12.5% ถึง 14.0% ทีเดียว

ดังนั้น การเลิกดื่มแล้วหันมาสะสมสุรากันก็น่าจะอินเทร็นด์ไม่ใช่น้อยเลย

9. เหรียญที่หาได้ยาก

เหรียญเก่าๆ หายากมักเป็นที่ต้องการของผู้สะสม ผู้มีโอกาสครอบครองไว้จึงเบาใจได้เลยว่าค่าของมันในอนาคตจะเพิ่มมากขึ้นเพราะมันผลิตเพิ่มไม่ได้ ไม่เหมือนทองคำกับแร่เงินที่ยังพอจะขุดหามาได้
อย่างราคาเหรียญทองคำ St. Gaudens รุ่น 20 ดอลลาร์สหรัฐ ยังขึ้นจากช่วงก่อน Recession ใน อเมริกา จากไม่ถึง 2,000 ดอลลาร์ มาเป็น 2,720 ดอลลาร์ในเดือนตุลาคมนี้เลย

------------------------------------------------------------------------

สำหรับตลาดไทยๆ นั้น เรายังมีอะไรน่าสะสมเพื่อรักษาอำนาจซื้อ และผลตอบแทนที่ดี ได้มากกว่านี้อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพระเครื่อง พระพุทธรูป เหรียญเก่า ผ้าทอเก่าๆ ถ้วยชามรามไหเก่าๆ ตั้งแต่ครั้งราชวงศ์โบราณ

ก็แหม ขนาดชามตราไก่ กับถาดสังกะสีลายดอกไม้ที่ใช้กันในวัด ยังป๊อบปูลาร์ในวันนี้

แต่ข้อยกเว้นในใจคุณผู้ชายมันก็มีเป็นธรรมดา

นั่นก็คือ ของเก่าๆ อย่างคุณนายที่บ้าน ไม่เคยมีราคาขึ้น มีแต่จะตกลงไปด้วยอัตราเร่งสูงสุด เหลือเชื่อจริงๆ

แถมไม่มีตลาดรอง ไม่มีสภาพคล่อง ลงทุนแล้วต้องลงทุนเลย ไม่ให้ Cut Loss ไม่ให้ Take Profit

จนบางคนถึงกับบ่นว่า .....

“ฮ้วย อย่างนี้มันก็เลยมีแต่ Take Loss กับ Cut Profit ละสิ”

ฮ่า สมน้ำหน้าค่ะ

เอาละ คิดจะลงทุนอะไร ก็อย่าลืมเรื่องสภาพคล่อง เพราะหลายอย่างไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันใจอย่างที่จำเป็นต้องใช้ ดังนั้น ต้องวางแผนให้ดีๆ

ถ้าคิดจะเดินตามรอยเศรษฐีกันละก็ อย่าลงทุนสะเปะสะปะ ให้เลือกชิ้นที่ดีที่สุดไว้ก่อน (ถ้ามีเงินพอนะ)

"ตลาดหุ้น จริงๆ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย ...แต่เราเองทำให้มันซับซ้อน คิดให้มันซับซ้อน"...เราเลยแพ้ความซับซ้อนของความคิดเราเอง !!

ตลาดเวลาดี จะวิ่งไปจนดีสุดๆ จน Bubble ...จากนั้น พอจบขาขึ้น ก็วิ่งกลับขาลงไปจน Crash ลงสุดๆ ...แล้วพอลงสุดๆ ก็กล...
ับไปขึ้น ...แล้วก็ขึ้นไปสุดๆ ... "คือ มันต้องสุดๆ ในแต่ละทาง จนจบทางนั้นๆ"

"คิดง่ายๆ ใครก็ตาม ที่มีความเข้าใจ ว่าตลาดไปจนสุดด้านนึง ..แล้วก็เปลี่ยนไปจนสุดอีกด้านนึง ... ถ้ามีความเข้าใจประเด็นนี้ชัดเจน และ อดทนเพียงพอ -- รวยได้ไม่ยากเลย"

(แต่แปลกมาก คนส่วนใหญ่ พอหุ้นมันขึ้น ก็ลุ้นให้มันลง ... ตอนมันลงก็ลุ้นให้มันขึ้น ... จริงๆ การลุ้น ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ...ความเข้าใจต่างหาก ที่ช่วย) -- เข้าใจว่าหุ้นมี "Cycle" จะรวยจริงๆ

We had a booming stock market in 1929 and then went into the world's greatest depression. We have a booming stock market in 1999. Will the bubble somehow burst, and then we enter depression? Well, some things are not different.
Jeffrey Sachs
**************************************

ขอบคุณครับ

ประชากร และ การค้า ที่กำลังเปลี่ยนแปลง คุณคิดว่าไง... โดย นักแกะรอยหยัก

เริ่มจากประชากร เอา จีน รวมกับ อินเดีย ..เป็นเกือบครึ่งของคนทั้งโลก ...และที่น่าสนใจคือ สองประเทศนี้ "คนแม่งโคตจรเก่ง" ..ฮึม!! มีใครกล้าเถียงผมไหมว่า คุณว่า คุณเก่งกว่า คนจีน และ อินเดีย ...

เดิมทีคนของทั้งสองประเทศนี้ "ขาดโอกาส ในการศึกษา เยอะมาก" ..แต่เดี๋ยวนี้เริ่มเปลี่ยนไป ...แต่ละปี อย่างประเทศจีนและอินเดียรวมกัน คนจบปริญญาปีละ 5 -8 ล้านคน ..วิศวะ หมอ นักการเงิน คอมพิวเตอร์ ...จริงๆ 5 - 8 ล้านมันเทียบเท่ากับ คนทำงานทั้งประเทศ Australia เลยนะ ..แม่เจ้า!! คือ ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า แต่ละปีมีคนที่มีโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้น ขนาดไหน !! -- แน่นอน คนที่มีการศึกษา ก็เสมือนได้รับโอกาสเริ่มต้นในชีวิต ที่จะสามารถ "ยกฐานะของตัวเอง หากมีความสามารถ" ...ย้ำว่า คนเหล่านี้ เขาได้รับโอกาส ในการยกฐานะของตัวเอง หากเขา มีความสามารถ

ใช่!! ไม่ได้แค่ได้รับการศึกษาปริญญาแล้วจะยกฐานะของตัวเอง แต่ต้อง มีความสามารถด้วย -- มันถึงเกิดภาพของการแข่งขันในเศรษฐกิจ ที่รุนแรงขึ้นในปัจจุบัน ...ผมว่า หลายๆ คน ไป Focus อยู่ที่ประเทศอย่างอเมริกา และ ยุโรป ซึ่งปัจจุบัน เป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ คือ เอาอเมริกา รวมกับ ยุโรป มีคนรวมกันประมาณ 800 ล้านคน แต่คิดเป็นสัดส่วน GDP หรือ มูลค่ารวมเป็น 50% ของ เศรษฐกิจโลก ...แต่ปัญหาคือ คน 800 ล้านคนนี่ เขาบริโภคแบบเกินตัวมานาน ..คิดดูนะ โลกทั้งโลก 7,000 ล้านคน ..แต่การบริโภคกลายเป็นว่าคน 800 ล้านคน บริโภคเท่ากับ 50% ของทั้งโลก เท่ากับว่า คนที่เหลืออีก 7,200 ล้านคน กินอีกครึ่งที่เหลือ

"ไม่สมดุลย์" ...ถูกต้อง ไม่สมดุลย์ ...มันถึงเป็นภาพที่เราเห็นในโลก คือ คนอเมริกา อ้วน น้ำหนักเกิน บริโภคเกิน รถหลายคัน ใช้น้ำมันเยอะ บ้านหลังใหญ่ ...และ ยังมีบ้านหลายหลัง ทุกบ้านมี เฟอร์นิเจอร์ มีทีวี มีเครื่องอำนวยความสะดวก ...ซึ่งของเหล่านั้น ผลิตมาจาก โรงงานนรก ใน เอเชีย ... "เห็นภาพ มากขึ้นแล้ว!!" ... คนเอเชีย ก็คือ ประเทศที่เป็น โรงงานนรก ..คือ ประชากรในประเทศ อดอยากปากแห้ง แต่สินค้าที่ผลิต ส่งไปขาย อเมริกา และ ยุโรป ...ยกตัวอย่างใกล้ตัว อย่างประเทศไทย เราผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก ...เราผลิตรถยนต์อันดับต้นๆของโลก ..เราผลิตยาง ซึ่งเป็น จุดเริ่มของยางรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก ..เราผลิตอาหารอันดับต้นๆ ของโลก ...เราเป็นเจ้าของ ปิโตรเคมี ทางด้านบรรจุภัณฑ์ อันดับหนึ่งของโลก ...เรามีบริษัทผลิตปลาทูน่า อันดับหนึ่งของโลก ...เยอะ !! ...ผมอยากจะชี้ มูลค่าแฝงของระบบเศรษฐกิจของเรามันโคตรเยอะ ..เราส่งออกเท่ากับ 70% ของ GDP ... ครับ นี่แหละ ภาพของ "โรงงานนรก" ของโลก จริงๆ อยู่ในบ้านเรา ...

คำถาม คือ ทำไมคนไทยไม่รวย !! ... และ ทำไมของดีๆ เราส่งออกหมด ...กุ้งยักษ์ เราส่งออก ..ทำไมกรู ไม่ได้กิน -- ต้องบินไปกินที่ Australia ...เฮ้ย!! มันไม่ใช่แล้วมั้ง !!

แต่!! คุณรู้ไหมว่า ภาพเหล่านี้ มันกำลังเปลี่ยน ...วันนี้นักธุรกิจ(เอกชน) เข้าไปลงทุนในต่างจังหวัด ...สมมุติผมไปจังหวัดนึง แล้ว ผมซื้อที่ดิน ซึ่งเดิมทีราคาไร่ละ 1 แสนบาท ...สมมุติผมซื้อ 1 ล้านบาทต่อไร่ เพื่อมาทำ Condo ขาย ..."คำถามคือ ที่ดินในจังหวัดนั้นจะมีราคาเปลี่ยนไปอย่างไร" ...ใช่ !! มันจะขึ้นทั้งจังหวัด ...เท่ากับว่า ผมในฐานะ Developer เข้าไปซื้อที่ดิน แล้วพัฒนาสำเร็จ ขายทำกำไร "ผมรวย นั่นคือมุมนึง" ...ส่วนอีกมุม มันเท่ากับว่า ผมเป็น Tipping Point หรือ ตัวจุดประกาย ที่ทำให้ Wealth หรือ ความมั่งคั่งของคนในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นทันที ...ที่ดินขึ้นทั้งจังหวัด -- การแข่งขันประทุขึ้น Real-estate Developer ก็จะหลั่งไหล เข้าไปแย่งชิง ความสำเร็จ แล้วธุรกิจบริการอื่นๆ ก็จะ ขึ้นเป็นดอกเห็ดตามมา ... คำถามคือ แล้วมันเริ่มจากอะไรล่ะ !!

มันเริ่มจาก "โอกาส" ..วันนี้บ้านเรา เริ่มเข้าใจ AEC มากขึ้น ..จริงๆ มันไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะ การค้ามันเกิดตั้งนานแล้ว ...เพียงแต่การกำหนด Theme ร่วมกันของ ASEAN ..มันทำให้เกิดปฎิกริยาการเร่งให้ตื่นตัวของทุกคน ...ผลก็คือ วันนี้การค้าชายแดนของไทย (เราเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของ ASEAN ตั้งแต่โบราณนะ ...ผมฟันธงเลยว่า อนาคตก็ใช่ ถ้าเราเข้าใจจุดแข็งของตัวเอง และ อย่าทะเลาะกันงี่เง่า แบ่งผลประโยชน์ไม่ลงตัว ...ตรงนั้นน่ะน่ากลัว) ..การค้าชายแดนของไทยเพิ่มขึ้น เป็นสิบเท่าตัว ...วันนี้ผู้ค้าปลีกที่เข้าใจ เขาไปเปิดศูนย์กระจายสินค้าแถวชายแดนเตรียมหมดแล้ว ...พอ AEC เปิด การค้าเสรี ...เดี๋ยวเพื่อนบ้านก็จะแห่มาซื้อสินค้าจากเรา -- คิดง่ายๆ เอาแค่เศรษฐีของ ลาว พม่า เขมร เวียดนาม ..เอาแค่เศรษฐีเขาสามารถมาซื้อสินค้าและบริการจากเราได้เสรี ...คุณว่าเขาจะมาไหม ...แน่นอน!! ...โอ๊ว!! โอกาสแบบสุดๆ

คุณรู้ไหมว่า เศรษฐีเดี๋ยวนี้ เขาคุยกันว่า จาก กรุงเทพ เขาบิน 1 ชั่วโมง ถึงเมืองหลวงของทุกประเทศใน AEC ...เท่ากับว่า ผมสามารถบินไปกินข้าวในย่างกุ้ง แล้ว กลับมา Meeting ที่กรุงเทพ ได้ทัน Dinner มื้อสุดหรู ในกรุงเทพอีกมื้อ ..."มรึงจะบินไปไหน" ...แต่มันมันส์น่ะ ...แล้วถ้าให้เลือกว่า คุณจะอยู่กรุงเทพ หรือ อยู่ในเวียดนาม เขมร ... ผมท้าเลยว่า คุณเลือกเมืองไทย (แถวรัชดา สีลม..ฮ่า ฮ่า) ..ไปถาม ผู้บริหารญี่ปุ่นเลยว่า ทำไมยู จะอยู่เมืองไทย ..."อ๋อ!! ไม่ต้องตอบ เพราะอ้าปากเห็นลิ้นไก่ เมืองไทยเป็น ศูนย์กลางของเมืองน่าอยู่ เราต้องขอบคุณ ชูวิทย์ ที่ปูทางไว้ดี ...วันนี้ผู้บริหารทั่วโลก อยากอยู่เมืองไทย เพราะ เรามีการแพทย์ที่ดี ..การบริการที่ดี ..อาหารที่ดี ..โรงแรมที่ดี ...อ่ะนะ มันเยอะมาก"

ภาพทั้งหมด "เพิ่งเริ่ม" ..เศรษฐีที่ดินในต่างจังหวัด โดย เฉพาะ เมืองที่เชื่อมโยงกับ AEC จะ Boom... คนเหล่านี้จะรวย ไม่รู้เอาเงินไปทำอะไร ...ก็จะมีนักการเงินอย่างพวกผม เข้าไปจีบ แล้วชวน มาลงทุน เอากิจการเขาเข้า IPO ในตลาด เอาเงินเขามาลงทุน เอามาทำ Private Equity ..เอามาทำ Venture Capital -- เกิดแน่  !! เพราะ ผมจะไปคุยเอง ...ผมทำโครงการ ทายาทธุรกิจของธนาคารกรุงเทพอยู่ ...ผมรู้ว่าจะไปต่อยังไง ...ดังนั้น ตรงนี้เล่าให้ฟัง เพราะ ผมจะต้องทำให้มันเกิด (มุ่งมั่นๆ ๆ ) ...มันมันส์โคตรๆ คุณว่าไหมล่ะ ...นั่นคือ เงินและ ระบบเศรษฐกิจ จะขยายตัว ซึ่งเดิมทีทุกอย่างเชื่อมกับธนาคาร ..เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ เพราะ เอกชน บางรายใหญ่กว่าธนาคารแล้ว ...บริษัทเขาระดมทุนได้เอง อย่าง SCC เขากู้ผ่านประชาชนโดยตรง ...เวลานี้ก็ 70% ของเงินกู้ เขาออก Bond (หุ้นกู้)เอง ..เพราะกู้ได้ถูกกว่ากู้ธนาคาร ...PTT ก็ทำแล้ว -- ผมจะบอกว่า Trend แบบนี้ มาแน่ แล้ว Financial Sector จะขยายอีกมหาศาล ...ทั้งในเรื่องของ Capital (ตลาดทุน) และ Financial (ตลาดเงิน)

การบริโภคภายในประเทศเราจะเพิ่มขึ้น จากที่เราส่งออก 70% ของ GDP ...ผมว่า ต่อไป การบริโภคภายในจะเริ่มขยายตัว อาจจะมาเป็นครึ่งนึง ..แล้วขยายเรื่อยๆ .. "ถ้าคนเรารวย เราก็มีเศรษฐกิจภายในที่แข็งขึ้น ..ของดี ก็กินกันเองบ้าง ไม่ต้องส่งออกหมด" ...

ภาพนี้ไม่ใช่แค่เมืองไทย ...แต่มันเกิดทุกประเทศใน AEC ..และ มันก็เกิดในประเทศที่คนเขาฉลาดกว่าเรา อย่างเช่น จีน และ อินเดีย ด้วย (ลองนึกภาพ แค่ไทยเราก็เยอะแล้ว ..แล้วจีน กับ อินเดีย ยิ่งเยอะกว่าเราอีก)

โลกเราเปลี่ยนไปแล้ว ..วันนี้มันขยาย จากพวกเรา จากเอเชีย ...ต้องถามว่า "คุณพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่" ...การเตรียมความพร้อม คือ การเข้าใจจุดแข็งของตัวเอง แล้ว พัฒนาต่อยอด จากจุดที่ "ตัวเรา" แข็ง ...แก่น จะไม่ได้มาจากคุณเป็น ลูกจ้างได้เงินเดือนเยอะๆ ...แต่แก่นคือ "ความเข้าใจในศักยภาพของตัวเอง ...เข้าใจ Connection ที่มี ...เข้าใจว่า เรารวมกับใคร กับอะไร แล้ว จะช่วยให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า 1+1 เท่ากับ 4"

คนฉลาดในยุคต่อไป อยู่ยาก (One Man Show มันตายแน่ ..กินคนเดียวกินรวบ แบบมนุษย์โบราณ มันซวยแน่!!) ..แต่คนที่เข้าใจการเปลี่ยนแปลง รู้จุดแข็งตัวเอง รู้จุดแข็งคนอื่น รู้จักการ win-win ..ร่วมกัน 1+1 =4 ...คนเหล่านี้แหละ ที่น่ากลัว ...เพราะ เขาจะสร้าง Convergence ทางองค์ความรู้ และ ความสามารถ

ฮึม!! ถ้านึกไม่ออก ว่าจะเริ่มที่ไหน ...เข้ามา The Stock Master ของบัวหลวง ...ผมก็เป็นหนึ่งในคนที่เริ่ม สร้างเครือข่ายของคนรุ่นใหม่ ...ผ่านโครงการของธนาคารกรุงเทพและหลักทรัพย์บัวหลวง อย่าง "ทายาทธุรกิจบัวหลวง" ...เราดึงเข้ามารวมกับ โครงการของหลักทรัพย์บัวหลวงอย่าง "The Stock Master" (ซึ่งเตรียม Season ต่อไปเร็วๆ นี้!! ) ...นี่เป็นก้าวแรกของการ พยายามรวมองค์ความรู้ ของคนรุ่นใหม่ เข้ามาร่วมกันเดิน แบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน ...นี่แหละ สังคม win-win ..ผมรวย คุณก็รวย ..."ใครว่าตัวเองถนัดด้านไหน แล้วอยากแบ่งปัน หาคนร่วมกันเดิน ...ก็เข้ามาแจมกัน"

แล้วเจอกัน ...คุณและผม เจอกันแน่ "คนเดียวเปลี่ยนประเทศไม่ได้หรอก ...ต้องเป็นกลุ่มคน ที่เก่งที่สุดในจุดที่ตัวเองยืน เข้ามารวมตัวกัน แล้ว win-win เดิมร่วม แบ่งปัน ซึ่งกันและกัน" ...นั่นแหละ กลุ่มคนที่จะเปลี่ยนประเทศ!!
 ***************************

ขอบคุณครับ

ชาบู ชาบู" โอกาสของคนรุ่นใหม่ ไม่ต้องแย่งกัน

มีน้องๆ หลายคนมาถามผม ..."พี่ครับ ผมอยากรวยหมื่นล้าน เหมือนชื่อหนังสือพี่น่ะ"


โอ๊ว!! ตรูยังไม่มีเลยอ่ะ น้องเอ๋ย... เอางี้ มาทำความเข้าใจกันใหม่ -- เริ่มจาก หนึ่ง "ความจริง" ..สอง ทางเดิน ไปสู่ความจริง ดีไหม!!


ความจริง มันเริ่มจาก ความพร้อมในการเดินทาง ...ผมเชื่อเสมอว่า ความพร้อมมันเริ่มที่ความพอดี ... "พอ!!" ...ใช่!! ความพอเพียงนั่นแหละ ... บทที่หนึ่งของ การเริ่มสะสมความมั่งคั่ง มันไม่ได้เริ่มจากการซื้อทุกอย่างที่อยากจะได้ นาฬิกา กระเป๋าหรู โทรศัพท์ใหม่ คอมพิวเตอร์รุ่นล่า รถยนต์อีโคคันงามสุดแนว ..บลา ๆ ๆ -- จริงๆ แล้ว ความมั่งคั่งมันต้องเริ่มจากเรา Content ก่อน คือ เรา "พอเพียง" ในสถานะของเราก่อน ..นั่นแหละ เราถึงจะเริ่มเก็บเงินได้ -- บอกตรงๆ ขั้น "พอเพียง" นี่คนส่วนใหญ่ก็ทำไม่ได้แล้ว ไม่ต้องคิดเลยว่าขั้นต่อไปจะเป็นอย่างไร


มันมีสำรวจ เศรษฐีทั้งโลก ...ว่าคนที่มีเงินเกิน 1 ล้านเหรียญ (30 ล้านบาท) ของคนทั้งโลกกว่า 7,000 ล้านคน ...มีเพียง 10 ล้านคนเท่านั้น ที่มีเงินมากกว่า 1 ล้านเหรียญ -- จริงดิ!! ..จริงๆ นั่นเท่ากับว่า ที่เราเห็นคนส่วนใหญ่ อวดรวย ใช้ของหรูหรา ส่วนมาก กู้มาซื้อ ...กู้บัตรเครคิต ..ผ่อน ..Lease .. มาจากหนี้ทั้งนั้นแหละ

โอเค เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า บทที่หนึ่งคือ การ Content "พอเพียง" ..การหยุดความอยากเบื้องต้น เป็นคุณสมบัติของคนรวย หรือ คนที่กำลังจะรวย เพราะ เขาจะเริ่มเก็บเงินได้ และมีทุนเริ่มต้น ...ขั้นต่อมา ต้องมองภาพใหญ่ให้ออกว่า ทิศทางของเงินและ Wealth ไปในทิศทางไหน --- "ประเด็นการอ่านทิศทางของ Wealth นี่ คนส่วนใหญ่ก็หลงประเด็น ...เพราะ เขาคิดว่า โอกาส หรือ สิ่งที่จะทำให้รวย คือ สิ่งที่คนส่วนใหญ่วิ่งแห่เข้าไปตามกัน... ไม่ใช่เลย!! ถ้าคิดแบบนั้น คุณก็เป็นแค่คนนึง ที่แห่เข้าไปขุดทองในยุคตื่นทองเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าคิดดีๆ คนที่รวยจากยุคตื่นทอง ไม่ใช่นักขุดทอง แต่เป็นคนขายเสียม ขายเครื่องมือขุดทองต่างหาก ที่รวยกว่า"



ผมเชื่อว่า ทุกวันนี้ ถ้าเรามองไปรอบๆ ตัว จะเห็นการตื่นตัวเรื่อง "พลังงาน" โดย เฉพาะพลังงานทดแทน ... ใช่!! มันเหมือนสมัย Dot Com Boom น่ะ ...ยุคนั้น ใครตั้งชื่อบริษัทต้องห้อยท้ายชื่อด้วย .com มิเช่นนั้นจะ ไม่อินเทรนด์ ....ปี 2000 ผลก็คือ Dot Com Crash ...แล้วยุคฟองสบู่ของ Dot Com ก็จบลงด้วย เจ๊งกันระนาว ...เวลานั้น คนที่เรียนเกี่ยวกับ IT ในปี 2000 ก็ตกงานกันเป็นแถว ...หลังจากนั้นไม่นานอเมริกาก็เกิด Bubble ก้อนใหม่ ก็คือ "Property" ...บ้านของอเมริกา วิ่งไม่มีลง เป็นเวลายาวนาน จนทุกคนคิดว่า ยุคอสังหาตื่นทอง จะขึ้นแบบไม่มีวันลง ...ปรากฏว่า ปี 2008 Subprime Crash ก็คือ ตลาด Property เจ๊งกันระนาว ..ผลก็คือ คนที่แห่เข้าไปทำอาชีพนักพัฒนาอสังหา ก็เจ๊งกันเป็นแถว ...ผลกระทบของการเจ๊ง รอบนี้ ยังหลอกหลอนอเมริกาจนถึงปัจจุบัน ด้วยอัตราการว่างงานที่สูง


คำถามที่น่าสนใจ คือ จากนี้ไป คืออะไรล่ะ !!


นี่แหละ เรื่องยาก เพราะ สิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบันคือ ปัญหาหนี้ที่รัฐบาลของประเทศอย่างอเมริกา และ ยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนเศรษฐกิจรวมกัน เกิน 50% ของขนาดเศรษฐกิจทั้งโลก ...บวกกับ ถ้าดูการไหลเวียนของเงิน เอาเงิน ดอลลาร์ + ยูโร จะเทียบเท่ากับ สกุลเงินที่ไหลเวียน ถึงเกือบ 90% ของเงินหมุนเวียนทั้งโลก -- ประเด็นที่เราเห็นชัดๆ ของทั้งอเมริกา และ ยุโรป คือ การแก้ปัญหาหนี้ ด้วยการ "พิมพ์เงินเพิ่ม" ...ใช่!! ไม่ Make Sense ...แต่เขาก็เลือกวิธีนี้ เพราะ มันมีวิธีแก้ แค่ 2 ทางคือ หนึ่ง แก้ด้วยปล่อยให้เศรษฐกิจพัง "เงินฟืด" ...สอง แก้ด้วย "พิมพ์เงิน" ซึ่งจะได้ผลก็คือ "เงินเฟ้อ" ในที่สุด -- แน่นอน !! ทั้งอเมริกาและยุโรปเลือก วิธีที่สอง คือ แก้ปัญหาด้วยการสร้างเงินเฟ้อ ..พิมพ์เงินไปเรื่อยๆ อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า QE3 ที่อเมริกาประกาศ คือ การพิมพ์เงินแบบไม่มีระยะเวลาจำกัด -- Yes !! Unlimit !!


การพิมพ์เงิน หรือ เพิ่ม Supply ของเงิน กดดันให้ราคา Commodity พุ่ง ...ซึ่งถ้าคิดดีๆ Commodity อย่าง น้ำมัน , เหล็ก , ทอง , อาหาร , ถ่านหิน ,แร่ธาตุ ต่างๆ มันเป็น วัตถุดิบ หรือ ต้นทุนของทุกสิ่งในโลก ...ราคาของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถูกกดดันให้ "ขึ้น" เพราะ แน่นอน การเพิ่ม Supply ของเงิน ยิ่งพิมพ์เงินเพิ่ม ..ราคา Commodity ย่อมเพิ่มขึ้น สวนทางกับมูลค่าเงินที่ลดลง ... เราเห็นอยู่แล้วว่า แค่เวลานี้ ราคาของ Asset ต่างๆ ในโลก มันแอบขึ้นแบบเงียบๆ ...ไม่ว่าจะเป็น บ้าน , ที่ดิน , ทอง , หุ้น


"ทางแก้!!" ...ไม่มีครับ -- ทุกอย่าง มันเป็นเหตุเป็นผลกันเสมอ ตามธรรมชาติ ดังนั้น สิ่งที่เราสามารถทำได้ ไม่ใช่การ ภาวนา !! ...แต่เป็นการเข้าใจ แล้ว วางตัวเอง อยู่ในจุดที่ได้เปรียบในวิกฤต


อย่างวันนี้ คนส่วนใหญ่แห่กันไปทำพลังงานทดแทน ...ซึ่งผมไม่เถียงว่า น่าสนใจ แต่ถ้ามองไปลึกๆ จะเป็นได้ว่า มันเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่สนใจ ..ก็เท่ากับว่า โอกาสมันปิดแล้ว สำหรับ New Player ...คนที่ได้รับประโยชน์ก็คือ คนที่เข้ามาก่อนตั้งนานแล้ว ... ถ้าเรามองไปในอดีต คนที่รวยก็คือ คนที่ Control ทรัพยากร ..อย่างเช่น ใครเป็นเจ้าของ บ่อน้ำมัน ก็จะรวยมหาศาล ...ซึ่งสิ่งเหล่านี้ นำมาซึ่งการ แย่งยิง ..ทั้งนองเลือดและ ไม่นองเลือด เพื่อเข้าครองทรัพยากรทั่วโลก ...แต่คนส่วนใหญ่ลืมคิดไปว่า Supply ของทรัพยากรมันมีจำกัด มันเป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป ...นั่นคือ ปัญหา


คนรุ่นต่อมาที่ฉลาด ยกตัวอย่าง คุณเฉลียว (กระทิงแดง) , คุณ เจริญ (น้ำเมา) , คุณ ตัน (ชาเขียว) ...หรือ ล่าสุด คนที่รวยที่สุดในจีน เขาเลือกที่จะมา ครองครอง ทรัพยากร ที่มีมากกว่า น้ำมัน ...ซึ่งก็คือ Control "น้ำ" นั่นเอง ... น้ำที่เรากินกันนั้นแหละ ตั้งแต่ น้ำเมา ยัน น้ำดื่มชูกำลัง ไป น้ำ ๆ ๆ ...แต่สุดท้าย เราก็พบว่า คนเราดื่มน้ำได้จำกัด ...เพราะ เขาบอกว่า "ห้ามดื่มเกินวันละสองขวด โปรดสังเกตุคำเตือนบทฉลากก่อนดื่มทุกครั้ง" ...ฮ่า ฮ่า ขำขำ คิดไปนั่น ..แต่ก็จริงนะ วันนี้สังเวียน "น้ำ" มันเริ่มเปลี่ยนจาก Blue Ocean มาเป็น Red Ocean ไปเสียแล้ว


อะไรต่อไปดีละ ...ที่ไม่จำกัด !!





ใช่!! ผมว่า "เงิน" ...เพราะ รัฐบาลทั่วโลก ทั้งอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ...เริ่มบ้าเลือด พิมพ์เงินแบบไม่จำกัด ... ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นคือ Supply ของ "เงิน" จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาล ... ผู้ใดก็ตาม ที่สามารถ Control Supply ของเงินมหาศาล ในรอบนี้ ...ผมว่า คุณจะเป็น เศรษฐี แน่นอน ...ฮึม!! หลายคน ฟังแล้ว งง ...จะบ้าหรือ เราจะ Control Supply ของเงินได้อย่างไร ...มันเป็นหน้าที่ของธนาคาร หรือ หลักทรัพย์ มิใช่หรือ


ใช่!! ผมว่าอุตสาหกรรม Hedge Fund มันกำลังก่อตัวขึ้นในเอเชีย ... หลายคนมองออกว่า ประเทศอย่าง อเมริกา พวกค้าปลีกเติบโต เขาก็มาเก็งกำไร ค้าปลีกในเอเชีย ซึ่งก็ได้รับผลกำไรกันมากมาย เพราะ ค้าปลีกในเอเชีย ก็เติบโตดังคาด ... แน่นอน ผมก็มองว่า เรื่องการเงินก็ไม่น่าต่างกัน ...อเมริกา และ ยุโรป ซึ่งมีการขยายตัวทางอุตสาหกรรมการเงิน อย่าง Hedge Fund , Private Fund , Private Banking มานาน ก็สร้าง Billionaire ที่สร้างตัวจากมื่อเปล่า ไม่ได้น้อยกว่าอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์เลย


ผมว่า Trend นี้มาแน่ ... "คนรุ่นใหม่ ก็ลองฝึกปรือ วิทยายุทธ์ กันให้ดีครับ"


คุณรู้ไหม อุตสาหกรรม การบริหารเงิน หรือ Money Management มันต่างกับอุตสาหกรรมอื่น ตรงที่ มันไม่ได้เริ่มที่เงิน แต่มันเริ่มที่ TRUST ...ครับ!! เรื่องของ ความไว้วางใจ หรือ TRUST เป็นสิ่งที่สร้างได้ยากที่สุด เพราะ ต้องอาศัยทั้ง เวลา และ ผลลัพธ์ ที่ต้องพิสูจน์ ...นั่นเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมอุตสาหกรรมอย่างการเงิน และ การบริหารเงิน เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ เพราะ มันต้องใช้ความอดทน และ ความเชื่อใจอย่างมาก ในการสร้าง ...และ ข้อดี คือ เมื่อคุณสร้าง TRUST ได้ มันกลายเป็น "สินค้า" ที่มี Barrier to Entry สูงมาก (ไม่ใช่!! พรุ่งนี้ ใครจะมาเปิดกิจการแข่งเหมือนร้านขายของชำ เพราะ TRUST ไม่ได้สร้างในวันเดียว ..มันเป็นการ สั่งสม ผลงาน และ ความไว้วางใจในระยะเวลาที่ยาวนาน)

อะไรที่สร้างง่าย ...ก็สิ้นไปง่าย ...ฉันใด ฉันนั้น -- ปัญญา + เวลา จึงเท่ากับ ความมั่งคั่งของแต่ละบุคคล


วิ่งไปซะไกล ...สิ่งที่สร้างโอกาสในการสร้าง Wealth ที่สูงที่สุด ก็คือ TRUST คือ ความไว้วางใจนั่นเอง ...โจทย์นี้ฟังดูง่าย แต่ทำยากที่สุด ... "นี่แหละ ที่มันขัดความเชื่อของคนส่วนใหญ่ เพราะ เงิน ไม่ได้สร้างจากเงิน แต่สร้างจาก TRUST และ ฝีมือต่างหาก"

***************

เเหล่งข้อมูล

คุณ ภาววิทย์ กลิ่นประทุม  จาก Stock2morrow

http://www.stock2morrow.com/showthread.php?t=36908

ขอบคุณครับ

คุณค่าของความดัง : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

คุณค่าของความดัง
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมอ่านเจอข่าวเล็ก ๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับ ไทเกอร์ วู้ด อดีตนักกอล์ฟหมายเลขหนึ่งที่เคยโด่งดังก้องโลกของวงการกีฬา ข่าวบอกว่าวู้ดทำรายได้จากการแข่งขันทะลุ 100 ล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 3,000 ล้านบาท ฟังดูก็ต้องบอกว่ามากมายสำหรับคนที่ทำงานใช้แรงกายแรงใจและการฝึกฝนอย่างหนักมาตลอดชีวิตซึ่งน่าจะไม่ต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งแปลว่าโดยเฉลี่ยแล้วเขาทำเงินจากการแข่งขันได้ปีละประมาณ 100 ล้านบาทหรือเดือนละ 8-9 ล้านบาทและน่าจะเป็นนักกีฬาที่ทำเงินมากที่สุดคนหนึ่ง และนี่ก็คือ “คุณค่าของการทำงาน” อย่างไรก็ตาม ในข่าวยังบอกต่อว่า ความมั่งคั่งของ ไทเกอร์ วู้ด จากการประมาณของผู้รู้ที่ติดตามข้อมูลส่วนตัวของเขานั้นอยู่ที่ประมาณ 600 ล้านเหรียญหรือ 18,000 ล้านบาท คิดเป็น 6 เท่าของรายได้ที่เกิดจาก “น้ำพักน้ำแรง” เงิน 500 ล้านเหรียญที่เกินมานั้น มาจากการโฆษณาและการเป็นพรีเซ็นเตอร์ต่าง ๆ ให้กับสินค้าหรือบริษัทที่จ้างเขาตลอดเวลาที่เขาเป็นคนดังมีชื่อเสียงในฐานะนักกอล์ฟที่โดดเด่นในระดับตำนานมานับสิบปี และสำหรับผมแล้ว นี่ก็คือ “คุณค่าของความดัง” ซึ่งในยุคสมัยนี้มีค่าสูงลิ่วโดยเฉพาะในสังคมที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ

ในเมืองไทยเองนั้น ปรากฏการณ์เรื่องของ “คุณค่าของความดัง” เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในระยะหลัง ๆ ที่สังคมของเรารวยขึ้นเรื่อย ๆ ผมยังจำได้ว่าเมื่อสมัยที่ผมยังเป็นเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ดาราที่เป็นซุปเปอร์สตาร์ในสมัยนั้นมีเพียง 4-5 คนเป็นอย่างมากในแต่ละทศวรรษ พวกเขาเหล่านั้นมักจะแสดงหนังกันเป็นร้อย ๆ เรื่องต่อเนื่องกัน บางคนต้องตาบอดเพราะต้องมองแสงไฟที่จ้ามากในการถ่ายทำภาพยนตร์ในสมัยนั้น แต่รายได้จากการแสดงกลับน้อยมาก ผมไม่รู้ว่าเท่าไร รู้แต่ว่าเมื่อพวกเขาเลิกแสดงไปแล้ว ก็ไม่ได้เป็นคนร่ำรวยอย่างที่ควรจะเป็น เทียบไปแล้วยังด้อยกว่าคนทำงานบริษัทที่กลายเป็นผู้บริหารมาก ว่าที่จริงในสมัยนั้นแทบจะพูดกันว่าถ้าคุณเรียนจบมหาวิทยาลัย คุณจะไม่เลือกเป็นดาราด้วยซ้ำ เพราะอาชีพดารานั้น “เต้นกินรำกิน” ไม่ใคร่จะมี “ศักดิ์ศรี” อะไรนัก และคุณอย่าหวังที่จะได้แต่งงานกับ “ไฮโซ” ในสังคม ความดังนั้น มีคุณค่าที่เป็นเม็ดเงินน้อยมาก

ดาราไทยสมัยนี้ อาจจะไม่ได้ต่างกับดาราในฮอลลีวู้ดมากนักในแง่ของสัดส่วนรายได้ที่มาจากการแสดงและการโฆษณา ดาราระดับซุปเปอร์สตาร์ของไทยเดี๋ยวนี้ทำเงินเป็นร้อยและอาจจะมีที่ทำเงินได้แล้วเป็น 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จากชื่อเสียงหรือ “ความดัง” และแม้ว่านักกีฬาจะยังทำเงินไม่ได้มากเท่าเนื่องจากส่วนมากยังไม่ได้เป็นนักกีฬาอาชีพ แต่นักกีฬาที่ดังมาก ๆ ซึ่งบางคนอาจจะเนื่องจากการได้เหรียญในกีฬาโอลิมปิกก็สามารถทำเงินได้หลายสิบล้านหรือบางคนก็เป็นร้อยล้านบาทจาก “ความดัง”

จริงอยู่ ถ้าฝีมือการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการแสดง การร้องเพลง การพูด และการเล่นกีฬาไม่ดีหรือโดดเด่นพอ “ความดัง” ก็จะไม่เกิด แต่แค่ทำงานได้ดีหรือมีฝีมือในการทำงานอย่างเดียว ความดังก็อาจจะไม่มา ความดังนั้น เป็นเรื่องที่ต้อง “จัดการ” จะต้องมีกลยุทธ์และมีการวางตำแหน่งแบบการตลาดเพื่อให้ความดังขึ้นสูงและคงระดับไว้อย่างนั้นให้นานเท่าที่จะทำได้ พูดอีกทางหนึ่งก็คือ ความดังนั้นคล้าย ๆ ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เจ้าตัวจะต้อง “ขาย” ให้กับคนในสังคม คนที่จัดการไม่เป็นหรือทำผิดพลาดจะทำให้ “ความดัง” เสียหาย บางครั้งถึงขั้น “หายนะ” ตัวอย่างก็คือ ไทเกอร์ วู้ด ที่เกิดเรื่องฉาวโฉ่ จนความดังนั้น กลายเป็นด้านที่ไม่ดีซึ่งทำให้คุณค่าของความดังตกลงไปมาก นั่นก็คือ เจ้าของสินค้าถอนโฆษณาออกและสินค้ารายใหม่ไม่ใช้เขาเป็นพรีเซ็นเตอร์ รายได้ที่จะมาจากความดังตกฮวบและคงไม่กลับมาเหมือนเดิมอีก

ในบางครั้งนั้น “ฝีมือ” หรือความสามารถในการทำงานเองก็อาจจะไม่จำเป็นมากนัก พูดง่าย ๆ บางคนสามารถ “ปั้นความดัง” ได้ เพราะหลายเรื่องของผลงานการทำงานนั้นเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ เหนือสิ่งอื่นใด สังคมก็อาจจะไม่ต้องการข้อพิสูจน์ ประเด็นจริง ๆ ก็คือ ขอให้สังคม “เชื่อ” ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้คนบางคนดัง ดังนั้น ถ้าใครสามารถทำให้คนเชื่อว่าเขามีความรู้หรือความสามารถสูงแม้ว่าเขาจะไม่รู้จริง เขาก็จะกลายเป็นคนดังได้ และความดังนั้น เขาก็สามารถแปลงให้มันเป็นเงิน กลายเป็นคุณค่าของความดังที่บางทีอาจจะเหนือกว่าคนที่มีความสามารถจริง ๆ ก็ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดวงการหนึ่งก็คือในวงการของ หมอดูและคนที่อ้างว่ามี “ญาณพิเศษ” ทั้งหลาย นี่จะรวมถึงนักเศรษฐศาสตร์พยากรณ์ด้วยหรือเปล่าผมก็ไม่แน่ใจ เพราะในแวดวงนี้ แทบจะไม่มีใครเคยพิสูจน์ว่าใครที่คาดหรือทายได้ถูกต้องจริง คนส่วนมากจะฟังและเชื่อในคนที่อธิบายได้อย่าง “มีเหตุมีผล” น่าเชื่อถือ หรือเป็นคนที่มี “ภาพลักษณ์” หรือแม้แต่หน้าตาหรือเสียงที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจคนดูคนฟัง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ สามารถ “สื่อ” ถึงคนจำนวนมากผ่านสื่อมวลชนที่เข้าถึงผู้คนที่เป็นเป้าหมายอย่างกว้างขวาง

คุณค่าของความดังนั้น สิ่งสำคัญที่ทำให้มันมีมากขึ้นนั้น อยู่ที่วิวัฒนาการของสื่อที่ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ในหลาย ๆ เรื่องหรือหลาย ๆ กรณีอยู่ที่เจ้าตัวที่จะบริหารหรือใช้มันด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นสมัยก่อน หมอดูที่มีชื่อเสียงหรือชื่อดังนั้น คุณค่าของความดังก็คือ ทำให้มีลูกค้ามาหามากขึ้นและค่าดูอาจจะปรับสูงขึ้น แต่นี่ก็ไม่ได้ทำเงินมากเท่าไรนัก แต่สิ่งที่ทำให้หมอดูสมัยนี้ร่ำรวยเป็นเศรษฐีนั้น น่าจะอยู่ที่การรู้จักใช้สื่อและเปิดให้คนดูหมอผ่านทางโทรศัพท์มือถือและฟังจากเทปมากกว่า

เรื่องของคุณค่าของความดังนั้น ในหลาย ๆ เรื่องก็ทำเงินไม่ได้ อย่างข้าราชการที่อาจจะดังเนื่องจากความคิดสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง แต่การทำเงินจากความดังนั้นบางทีก็ทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นความดังที่มีประโยชน์แน่นอนและคนส่วนใหญ่ก็ต้องการ ความดังในบางเรื่องนั้น เจ้าตัวสามารถนำมันมาใช้ทำเงินได้และมันก็ไม่ได้ “สึกหรอ” คือยิ่งทำก็ยิ่งดี แต่ในบางเรื่องนั้น ถ้าเจ้าตัวเอาไปใช้ทำเงิน มันก็อาจจะเกิดสึกหรอได้ หรือเรียกว่า “คุณค่าของความดังลดลง” ความหมายก็คือ คนอาจจะมองไปในทางที่ไม่ดี ดังนั้น เจ้าตัวก็จะต้อง “ชั่งน้ำหนัก” ว่า อยากจะได้เงินหรือเก็บเป็น “กล่อง” ไว้ และนี่มาถึงเรื่องของการลงทุนในหุ้น

การเป็น นักลงทุนชื่อดังนั้น ผมคิดว่ามันมีคุณค่าและสามารถเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินได้ถ้าเขาต้องการ เหตุผลก็เพราะการเป็นนักลงทุนชื่อดังนั้นจะทำให้มีคนซื้อหรือขายหุ้นตามอย่างที่เรียกว่าเป็นนักลงทุนแบบ Celebrity Investment หรือ CI ดังนั้น หุ้นที่ “เซียน VI” ซื้อไว้แล้วก็อาจจะปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น หุ้นที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ซื้อนั้น มักจะมีราคาขึ้นทันทีที่ข่าวออกไป ประเด็นอยู่ที่ว่า ถ้าบัฟเฟตต์ต้องการทำเงินแบบง่าย ๆ เขาก็เพียงแต่ซื้อหุ้นบางตัวและปล่อยข่าวออกไปเพื่อให้หุ้นวิ่งเสร็จแล้วก็ขายแล้วก็ไปทำกับหุ้นตัวใหม่ แต่แบบนี้ชื่อเสียงของเขาก็จะสึกหรอลง ดังนั้น เขาจึงไม่ทำ เขาเชื่อว่าเขาไม่ต้องทำ เขาจะถือยาว เขาไม่ต้องรีบขาย ว่าที่จริงถ้าซื้อแล้วหุ้นวิ่งเขาไม่ชอบ เขาชอบซื้อเยอะ ๆ ในราคาที่ถูก ๆ เพราะถ้าเขาไม่ขายก็ไม่มีประโยชน์ที่หุ้นจะขึ้นไปเร็ว ๆ และนี่ก็คือ การรักษาคุณค่าของความดังของนักลงทุน นั่นก็คือ ไม่เปลี่ยนความดังเป็นเม็ดเงิน เม็ดเงินควรจะต้องมาจากฝีมือและความสามารถในการลงทุนเท่านั้น

*****************************

คุณค่าของความดัง

โลกในมุมมองของ Value Investor

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Monday, 22 October 2012

ที่มา : http://portal.settrade.com/blog/nivate/2012/10/22/1190

ขอขอบคุณครับ

ตรวจอาการเศรษฐกิจโลกและผลต่อเศรษฐกิจไทย

การประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกที่เพิ่งจบไปที่กรุงโตเกียว ในความเห็นผมต้องบอกว่า ไม่ได้สร้างความมั่นใจมากขึ้น
เกี่ยวกับความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาที่เศรษฐกิจโลกมีขณะนี้ คือถึงแม้ตลาดการเงินพยายามมองปัญหาในเชิงบวกว่า เศรษฐกิจโลกจะสามารถปรับตัวดีขึ้นในปีหน้าจากการดำเนินนโยบายของภาคทางการ แต่ความไม่ชัดเจนว่านโยบายจะเดินต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะนโยบายที่ต้องมาจากฝ่ายการเมืองของประเทศที่ต้องแก้ไขปัญหา ซึ่งที่สำคัญคือสหรัฐและยุโรป ทำให้ไม่มีความมั่นใจว่าการแก้ไขปัญหาจะเกิดขึ้นได้จริงจัง และเกิดขึ้นในขนาดมากพอที่จะนำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อันนี้คือประเด็นที่ผมอยากจะเขียนวันนี้

ปัญหาและความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกขณะนี้มีสามเรื่อง
เรื่องแรก ก็คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันในหลายประเทศ อย่างที่ทราบ องค์กรระหว่างประเทศทั้งไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก และเอดีบี ได้ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเหลือประมาณร้อยละ 2.5 ถึง 3.3 จากที่มองว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจยุโรปที่ปีนี้จะเข้าสู่ภาวะถดถอย คือ ขยายตัวติดลบ ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่ว ทำให้เศรษฐกิจทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศตลาดเกิดใหม่จะขยายตัวลดลง โดยจีนการขยายตัวปีนี้จะลดลงเหลือประมาณร้อยละ 7.7 - 7.8 ขณะที่อินเดียเศรษฐกิจจะชะลอเหลือประมาณร้อยละ 6.5 - 6.7 ทำให้เศรษฐกิจโลกปีนี้จะไม่ได้พลังของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่เข้ามาช่วย ทั้งหมดจึงเป็นโมเมนตั้มของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนตัว ซึ่งจะมีผลกระทบให้ประเทศอื่นๆ ต้องชะลอตัวตามไปด้วย รวมถึงเศรษฐกิจไทย

แล้วเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะเป็นอย่างไร ขณะนี้ตลาดการเงิน ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ดีขึ้นในปีหน้า จากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลายประเทศจะนำออกมาในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า โดยไอเอ็มเอฟให้เศรษฐกิจโลกปีหน้าขยายตัวเพิ่มเป็นร้อยละ 3.6 จากร้อยละ 3.3 ปีนี้ อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจโลกปีหน้าอาจชะลอต่อเนื่อง หรือเข้าสู่ภาวะถดถอย ถ้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวไม่มีการผลักดัน หรือมีไม่มากพอ ความเสี่ยงขณะนี้ก็คือ ความเข้มแข็งของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน การแก้ไขปัญหาการคลังของสหรัฐหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี ว่าจะลดทอนแรงกระตุ้นการคลังทั้งในเรื่องภาษีและการใช้จ่ายหรือไม่ เทียบกับนโยบายที่ประกาศไว้เดิม (Fiscal Cliff) รวมถึงความเชื่อมั่นของตลาดเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาในยุโรปว่าจะมีการเดินต่ออย่างไร สิ่งเหล่านี้คือ ความไม่แน่นอนที่จะกระทบทิศทางและโอกาสของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า


เรื่องที่สอง ก็คือ สถานการณ์ปัญหาหนี้ยุโรป ซึ่งขณะนี้ได้ลากยาวมากว่าสี่ปี ความเข้าใจของตลาดการเงินขณะนี้ก็คือ ในด้านนโยบาย ประเทศในกลุ่มเงินสกุลยูโรคงพยายามแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ภายใต้การรักษาระบบเงินยูโรไว้ โดยเลือกแนวทางที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับการรวมตัวทางการเงินและการคลังของประเทศสมาชิกกลุ่มเงินยูโร ให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการกำกับดูแลระบบธนาคารพาณิชย์ และด้านการคลัง ที่ผ่านมาธนาคารกลางสหภาพยุโรปได้สร้างความมั่นใจในเรื่องการคงอยู่ของระบบเงินยูโร โดยประกาศที่จะทำทุกอย่างที่จะไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเงินยูโร พร้อมกับมีมาตรการที่จะอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม (OMT) เพื่อช่วยเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งการประกาศเจตนารมย์ดังกล่าว บวกกับมาตรการที่มีเพิ่มเติมได้ช่วยลดความห่วงใยในตลาดการเงินเกี่ยวกับการคงอยู่ของระบบเงินยูโรไปได้มาก พร้อมกันนี้รัฐบาลของกลุ่มสหภาพยุโรปก็มีความก้าวหน้าเพิ่มเติมในการสร้างกลไกการแก้ไขปัญหา เช่น การจัดตั้ง ESM (European Stability Mechanism) และผลักดันนโยบายที่จะนำไปสู่การรวมตัวด้านการเงิน เช่น นโยบายที่จะมีหน่วยงานเดียวทำหน้าที่กำกับดูแลระบบธนาคารพาณิชย์ในยุโรป ซึ่งความก้าวหน้าดังกล่าวส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นของตลาดต่อการแก้ไขปัญหา


แต่ส่วนที่ยังไม่ชัดเจน ก็คือ ฝ่ายการเมืองในยุโรปจะแก้ไขปัญหาที่ขณะนี้กำลังรอการแก้ไขอยู่อย่างไร ก็คือในกรณีของกรีซที่จะต้องสอบผ่านเงื่อนไขการกู้ยืมงวดที่สอง และกรณีของสเปนที่ตลาดมองว่าอาจจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศและรัฐบาลสหภาพยุโรป แต่ในทั้งสองเรื่องนี้ ก็ยังไม่มีการตัดสินใจ ความล่าช้านี้ส่วนหนึ่งผูกอยู่กับ หนึ่ง ความเข้าใจว่าปัญหาควรแก้ไขอย่างไร และสอง การตัดสินใจของนักการเมืองยุโรปว่าจะเลือกเดินอย่างไรต่อ ทำให้การแก้ไขปัญหาในกรีซและสเปนล่าช้าลง ตลาดมองว่า ถ้าฝ่ายการเมืองไม่เร่งตัดสินใจ ปัญหาในยุโรปก็จะลากยาว ไม่มีการแก้ไขจริงจัง ซึ่งก็จะส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจยุโรป และเศรษฐกิจโลกต่อไป

เรื่องที่สาม ก็คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจการเงินโลกจากนี้ไป ถ้าเศรษฐกิจโลกจะเป็นแบบนี้ไปอีกนาน คือ ขยายตัวต่ำ อัตราดอกเบี้ยต่ำ และมีความผันผวนในตลาดการเงินสูง ผลกระทบสำคัญจะมีสองประเด็น คือ หนึ่ง ผลของการขยายตัวต่ำต่อประเทศอื่นๆ ที่จะทำให้รูปแบบของการใช้การค้าระหว่างประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำได้ยากขึ้น ดังนั้น หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียคงต้องหันมาพึ่งการใช้จ่ายในประเทศ และการกระตุ้นโดยนโยบายในประเทศ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทน คำถามที่ตามมาก็คือ ประเทศที่ต้องใช้การใช้จ่ายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะทำอย่างไร ที่จะป้องกันไม่ให้การขับเคลื่อนดังกล่าวสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และปัญหาหนี้ที่จะมีตามมาจากการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชน


ผลกระทบที่สองก็คือ เงินทุนไหลเข้า ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ เพราะปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขณะนี้ดีกว่าประเทศอุตสาหกรรม บวกกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าจะกระตุ้นเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ ภาวะดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่เงินทุนไหลเข้าได้ทำให้ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร รวมถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ ปรับตัวดีขึ้น

ในกรณีของไทย สิ่งที่ต้องตระหนักก็คือ เงินทุนเหล่านี้เมื่อรวมกับนโยบายการคลังที่มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายการเงินที่ขณะนี้ผ่อนคลายมากกว่าที่ควรจะทำ (อัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ) ในภาวะที่เศรษฐกิจก็ขยายตัวมากอยู่แล้วจะทำให้ประเทศมีความล่อแหลมต่อปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ดุลบัญชีเดินสะพัด เงินเฟ้อ ปัญหาหนี้ และปัญหาฟองสบู่ อันนี้คือความเสี่ยงของประเทศขณะนี้ ดังนั้นความท้าทายด้านนโยบายของประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย ก็คือจะป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอัตราดอกเบี้ยต่ำ ผ่านการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ นำประเทศไปสู่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจหรือวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างไร

สรุป เศรษฐกิจโลกขณะนี้ ยังมีข้อจำกัดมาก หลายอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายการเมืองว่าจะดำเนินนโยบายต่ออย่างไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจน แต่ผลของปัญหากำลังสร้างความเสี่ยงให้กับเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศในเอเซียรวมถึงไทย


Tags : ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต"

จาก Black Monday ถึง Hamburger Crisis

2530-2551 จาก Black Monday ถึง Hamburger Crisis หนังสือบันทึกทุกช่วงเศรษฐกิจไทยในรอบ 20 ปี ทำให้มองปัจจุบันอย่างเข้าใจ และมองอนาคตได้ชัดขึ้น

นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่ถูกบันทึกบนหน้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก Great Depression หรือภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุด ผ่านเลยมาแล้ว 73 ปี (เกิดขึ้นระหว่างปี 2472-2478) จวบจนวันนี้ ยุคข้าวยากหมากแพงก็หมุนกลับซ้อนทับประวัติศาสตร์อีกครา

สัจธรรมของเหรียญที่มีสองด้าน ภายใต้วิกฤติจึงแฝงเร้นไว้ซึ่งหนทาง อยู่ที่ใครจะพลิกวิกฤตินั้นเป็นโอกาส

เหตุการณ์ Black Monday วันจันทร์ทมิฬที่เกิดขึ้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2530 นับเป็นวิกฤติตลาดหุ้นครั้งประวัติศาสตร์ของโลกและของไทย กระทบมายังตลาดหุ้นทั่วทั้งโลก เป็นวิกฤตการณ์ที่ต้อนรับการถือกำเนิดของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (6 ตุลาคม 2530) เพียงไม่กี่วัน

เหตุการณ์ครั้งนี้ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงกับนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นจำนวนมากแบบไม่ทันได้ตั้งตัว ดัชนีราคาหุ้นลดลงอย่างรวดเร็วจากระดับสูงสุดที่ 472.86 จุด มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดที่ 243.97 จุด ณ วันที่ 11 ธันวาคม 2530 โดยระดับดัชนีลดลงถึง 228.89 จุด หรือ 48.4 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน



พอเกิดเหตุการณ์ Black Monday ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนต่างตระหนักถึงผลกระทบและระดมกำลัง ทั้งมีการจัดตั้งกองทุน และดำเนินมาตรการหลายประการเพื่อแก้ไขสถานการณ์จนคลี่คลายความตื่นตกใจ ทำให้ระดับราคาหุ้นกลับฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
วิกฤติครั้งนั้น ก็คือ “โอกาส” สำหรับใครอีกหลายคน

ในยุคส่งผ่านอำนาจ จาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาสู่พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทย นายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย ได้ก่อให้เกิดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจหน้าใหม่ของประเทศไทยที่ต้องจดจำ ทั้งรีบเร่ง รุ่งเรือง หลงระเริง ฟุ่มเฟือย และเจ็บปวด

ความรู้จักอดออม ดำรงความเป็นอยู่อย่างไม่ฟุ่มเฟือยในยุครัฐบาลป๋าเปรม สะสมฐานะทางการคลังจนเข้มแข็ง ส่งต่อผลดีมาถึงรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หันมายึดนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจการคลังเชิงรุก ขยายการลงทุนไปทุกสารทิศบนฝันอยากเป็น “เสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ของเอเชีย” ยุคนั้นเราจะได้ยินคำว่า NICs หรือ Newly Industrialized Countries และนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” อันโด่งดัง

ในยุคน้าชาติ "No Problem ..ไม่มีปัญหา” เป็นวลีที่ผู้นำพูดให้ได้ยินกันจนติดหู แม้ยุคนั้นจะใช้การลงทุนเป็นธงนำ แต่ก็ขับเคลื่อนเศรษฐกิจล้อไปกับนโยบายประชานิยมดีๆ นี่เอง เราได้ยินโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เราได้เห็นราคาที่ดินพุ่งทะยานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่เวลาฮันนีมูนของน้าชาติก็มาสะดุดหลังจากเกิดไฟสงครามอ่าวเปอร์เซีย อิรักบุกยึดคูเวตเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2533 ปัญหาคอร์รัปชันแพร่กระจายในวงกว้าง จนรัฐบาลชุดนี้ถูกตั้งฉายาว่า “รัฐบาลบุฟเฟ่ต์คาบิเนต” ในที่สุดก็ถูกคณะรสช.นำโดย "บิ๊กจ๊อด" พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ โค่นลงจากอำนาจ

หลังจากคณะรสช.แต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เศรษฐกิจไทยยังไม่ทันจะฟื้นตัว รสช.ก็วางแผนสืบทอดอำนาจ วางตัวให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จนเกิดขบวนการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่โดยพลังประชาชน นำโดยพลตรีจำลอง ศรีเมือง และบานปลายนำไปสู่เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ที่ต้องจดจำ

ในปีเดียวกันนั้นเองก็ได้ก่อกำเนิดนักเลงหุ้นระดับพระกาฬที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก เขาคือ “สอง วัชรศรีโรจน์” ศิษย์เอกวัดพระธรรมกาย ที่เข้ามาแสวงหาโอกาสความร่ำรวยจากตลาดหุ้น ผ่านมาแล้ว 16 ปี จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีชื่อสองอยู่เบื้องหลังหุ้นร้อนหลายต่อหลายตัว

ประวัติศาสตร์ต้องบันทึกอีกครั้งในช่วงปลายปี 2536 ดัชนีราคาหุ้นติดเครื่องทะยานขึ้นไปอย่างบ้าคลั่ง มีเศรษฐีหน้าใหม่เกิดขึ้นทุกวันในช่วงนั้น หุ้นทะยานขึ้นไปทำจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ 1,753.73 จุด จนกระทั่งถึงวันนี้ 15 ปีผ่านไปแล้ว ก็ยังไม่เคยไต่ขึ้นไปถึงจุดนั้นได้อีกเลย

“สูงสุดคืนสู่สามัญ” คือความจริงแท้แน่นอน ไม่มีฟองสบู่ใดจะยืนยาวและมั่นคงเท่ากับพื้นฐานที่เป็นจริง ในที่สุดงานเลี้ยงก็ย่อมมีวันเลิกรา รัฐนาวาชวน 1 ดำเนินไปได้พักใหญ่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ก่อนจะเปลี่ยนผ่านมาสู่รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา กงล้อเศรษฐกิจไทยเริ่มหมุนอย่างเชื่องช้า ขณะที่ภาคเอกชนยังหลงระเริงเงินกู้บีไอบีเอฟ โดยไม่หวั่นเกรงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ในหลายธุรกิจได้เกิด Over Supply ปีศาจร้ายเข้ามาเยือนแล้วอย่างเงียบๆ

ในยุค "นายบรรหาร" ตลาดหุ้นไทยต้องถูกบันทึกลงบนหน้าประวัติศาสตร์อีกครั้ง เมื่อนักลงทุนรายย่อยทนไม่ไหวกับภาวะความตกต่ำ รวมตัวกันประท้วงนายเสรี จินตนเสรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ และนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังในขณะนั้น และแล้ว เสียงปืนก็ดัง เปรี้ยง!!! ณ อาคารสินธร นายวิวัฒน์ ศรีสัมมาชีพ ลั่นไกหมายปลิดชีพตนเองเพื่อประท้วง แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ใดๆ ดีขึ้น และก็ไม่มีใครล่วงรู้เลยว่าปรอทวัดไข้เศรษฐกิจได้ส่งสัญญาณใกล้ถึงจุดระเบิดแล้ว

เศรษฐกิจไทยมาถึง “จุดอับปาง” ในยุครัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 โดยสัญญาณร้ายเริ่มมีตั้งแต่ “ม็อบโทรศัพท์มือถือ” ก่อตัวประท้วงย่านถนนสีลม เริ่มมีข่าวลือสถาบันการเงินถูกปิดกิจการ ในที่สุดก็นำไปสู่การสั่งปิด 56 ไฟแนนซ์ ขณะเดียวกันค่าเงินบาทเริ่มถูกนักเก็งกำไรโจมตีอย่างหนัก ธนาคารแห่งประเทศไทยต่อสู้จนทุนสำรองระหว่างประเทศหมด นำไปสู่การประกาศลอยตัวค่าเงินบาท และต้องเข้าโครงการขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ

หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายระลอก เศรษฐกิจไทยดำเนินไปด้วยความยากลำบากอย่างที่สุด ธุรกิจน้อยใหญ่ต้องล้มละลาย ตลาดหุ้นตกต่ำถึงขีดสุดตกจาก 1,753 จุด ลงมาต่ำสุด 204 จุด มี “เจ้าสัวเยสเตอร์เดย์” เกิดขึ้นมากมาย

รวมทั้งได้ก่อเกิดวลีดัง “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ของเจ้าพ่อวงการเหล็ก "สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง" และการต่อสู้ชนิดหัวชนฝาของ "ประชัย เลี่ยวไพรัตน์" เพื่อรักษาอาณาจักรแสนล้าน "ทีพีไอ" สุดท้ายก็รักษาเอาไว้ไม่ได้

รัฐนาวาชวน 2 เข้ามาแก้ปัญหาในยุคที่เศรษฐกิจไทยมีความหวังเหลือเพียงเลือนราง และถูกโจมตีอย่างหนักเมื่อเปิดให้ต่างชาติเข้ามารุมทึ้งเศษซากธุรกิจในราคาแบกะดิน นับตั้งแต่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศ กว่า 5 ปี ด้วยนโยบาย “ประชานิยม” เอาใจรากหญ้า กงล้อเศรษฐกิจไทยเริ่มขับเคลื่อนไปข้างหน้า แต่ยิ่งรัฐบาลเข้มแข็งมากเท่าไร ก็ยิ่งสะสมจุดอ่อนมากขึ้นเท่านั้น และก็นำมาสู่การปฏิวัติรัฐประหาร ล้างไพ่ใหม่อีกครั้ง

ทุกๆ เหตุการณ์ข่าวสำคัญ ในหนังสือ 2530-2551 จาก Black Monday ถึง Hamburger Crisis เล่มนี้ ให้ประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อทำให้เข้าใจปัจจุบันดีขึ้น และมองทางเดินไปสู่อนาคตได้อย่างถูกต้อง

“คนเดินถนนที่ราบเรียบตลอดเวลา มักจะชะล่าใจชอบวิ่ง จึงมักหกล้มในที่สุด แต่คนที่เดินบนถนนที่ขรุขระ มักระวังตัวเพราะความกลัวจึงปลอดภัย ธรรมชาติมักหยิบยื่นความสามารถให้แก่เรา ถ้าเรารู้เท่าทัน”

****************************

จาก Black Monday ถึง Hamburger Crisis

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2552

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/home/d...er-Crisis.html

ขอบคุณครับ


วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ปัญหาท้าทายในการแก้เศรษฐกิจโลก

ประเด็นท้าทายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกขณะนี้

ดร.บัณฑิต นิจถาวร
15 ตค 55

เดือนตุลาคมเป็นเดือนสำคัญประจำปีของระบบการเงินโลก เพราะเป็นเดือนการประชุมร่วมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลกที่ผู้นำด้านเศรษฐกิจในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จะหารือเพื่อกำหนดแนวการดำเนินนโยบายร่วมกัน ทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ และเพื่อสร้างเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ปีนี้การประชุมจัดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ช่วงวันที่ 8 - 14 ตุลาคม และพร้อมกับการหารือของภาคทางการ ภาคเอกชนเอง โดยเฉพาะสถาบันในตลาดการเงินก็จะมีเวทีประชุมหรือสัมมนาในประเด็นต่างๆ ขนานกันไปด้วย ซึ่งผมเองก็ถูกเชิญให้ไปร่วมประชุมในเวทีภาคเอกชนหลายเวที

ปีนี้บรรยากาศการประชุมไม่เป็นบวกร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการประชุมคราวนี้มีขึ้นในช่วงที่ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกกำลังมีความท้าทายที่สำคัญหลายด้าน


ด้านแรก
----------

เศรษฐกิจโลกขณะนี้ชะลอตัวค่อนข้างชัดเจนและกว้างขวาง โดยประเทศที่สำคัญทั้งในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก และประเทศกำลังพัฒนา การขยายตัวกำลังลดลง และในบางประเทศ เช่น ในกลุ่มยุโรป อัตราการขยายตัวติดลบ ทำให้องค์กรระหว่างประเทศที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ต่างปรับลดการประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงจากต้นปี


ด้านที่สอง
-----------

ปัญหาในยุโรปที่ยังไม่ชัดเจนว่า ตัวปัญหาจะมีพัฒนาการอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะในแง่ผลกระทบและความรุนแรง ขณะที่แนวทางแก้ไขปัญหาถึงแม้จะเริ่มชัดว่าจะออกในรูปของการสร้างความเข้มแข็งให้มากขึ้นกับการรวมตัวด้านการเงินและการคลังของประเทศในกลุ่มเงินสกุลยูโร แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าภาคทางการประเทศเหล่านี้จะสามารถทำอะไรเพิ่มเติมได้อีกในระยะสั้นในแง่มาตรการเพื่อแก้เศรษฐกิจที่ถดถอยและการว่างงานที่สูง

นอกจากนี้ ก็ยังมีความไม่แน่นอนว่า กรีซจะสอบผ่านเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือครั้งที่สองหรือไม่ เพื่อให้สามารถเบิกเงินช่วยเหลืองวดต่อไปได้

และก็มีกรณีของสเปนที่ยังไม่ชัดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินและการว่างงานที่มีอยู่สูงได้หรือไม่ โดยไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารกลางยุโรปและสหภาพยุโรป เหมือนกรณีของกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส

ความไม่แน่นอนในกรีซและสเปนนี้ตลาดการเงินมองว่า ยังเป็นความเสี่ยงที่อาจปะทุเป็นปัญหาหรือวิกฤตที่รุนแรงได้


ด้านที่สาม
-----------

ความไม่ชัดเจนว่าแนวทางการใช้นโยบายการคลังและการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมหลักจะเดินอย่างไรต่อ เพราะดูเหมือนผู้ทำนโยบายทั้งในสหรัฐและยุโรป จะหมดพื้นที่ที่จะใช้นโยบายการคลังและการเงินเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา

ในส่วนของนโยบายการคลัง ข้อจำกัดสำคัญก็คือ ระดับหนี้ที่ประเทศที่มีปัญหาหนี้สูงมีขณะนี้ที่ทำให้การใช้นโยบายการคลังเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้ยากขึ้น

และในส่วนของนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากบวกกับการใช้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง หรือมาตรการ QE ในหลายประเทศ เพื่อดูแลเสถียรภาพของตลาด ก็ยังไม่ให้ผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หรือต่อการลดอัตราการว่างงานที่สูง

คำถามที่นักลงทุนมีอยู่ในใจขณะนี้ ก็คือ ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น จะสามารถทำอะไรได้อีก เพื่อแก้ไขปัญหา


เฉพาะในประเด็นนโยบายการเงิน ต้องยอมรับว่าธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมกำลังเจอความท้าทายสำคัญว่า การใช้นโยบายการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมาถึงทางตันหรือยัง

เพราะถ้าเราดูช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกปะทุขึ้นเมื่อปี 2008 ธนาคารกลางในประเทศที่มีปัญหาดูเหมือนได้พยายามทำทุกอย่าง รวมถึงการใช้มาตรการนอกเหนือจากสิ่งที่เคยใช้เพื่อแก้ไขปัญหา

ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นศูนย์ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2008 ได้อัดฉีดสภาพคล่องโดยการซื้อสินทรัพย์ประเภท Mortgage - backed Securities และตั๋วการคลังมากกว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นภาวะในตลาดอสังหาริมทรัพย์

สภาพคล่องดังกล่าวได้ช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเงินฝืดและปัญหาในระบบสถาบันการเงินได้ แต่ไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจหรือลดอัตราการว่างงานลง เศรษฐกิจสหรัฐยังขยายตัวต่ำในอัตราประมาณร้อยละสองต่อปี ขณะที่อัตราการว่างงานก็ยังอยู่ประมาณแปดเปอร์เซ็นต์

ที่สำคัญนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากดังกล่าว โดยเฉพาะการอัดฉีดสภาพคล่องที่คาดว่าจะมีต่อไปจนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะดีขึ้นตามนโยบาย QE3 ได้ ทำให้เกิดความห่วงใยว่าจะสร้างความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงตามมา

อันนี้เป็นความห่วงใยที่มีการพูดกันมากขึ้น จนเริ่มมีคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความเสี่ยงของการอัดฉีดสภาพคล่อง

คำถามนี้มาจากทั้งในตลาดการเงิน นักวิชาการ ฝ่ายการเมืองในสหรัฐ และแม้แต่ในแวดวงธนาคารกลางด้วยกันเอง

ดังนั้น ความท้าทายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกขณะนี้มีมาก ทั้งในแง่ของตัวปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ และแนวทางการแก้ไขที่ควรดำเนินการต่อไป

ความไม่ชัดเจนเหล่านี้ ทำให้การประชุมที่โตเกียวเดือนนี้ตลาดการเงินจะเฝ้าดูมากว่าผู้ทำนโยบายจะมีคำตอบในเรื่องเหล่านี้อย่างไร

คำตอบที่รออยู่ก็คือ ...

หนึ่ง เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวต่อไปนานมากน้อยแค่ไหนในมุมมองของผู้ทำนโยบายและองค์กรที่เกี่ยวข้อง

สอง ความเสี่ยงที่ปัญหาในกรีซ และสเปนจะปะทุขึ้นเป็นปัญหาหรือความผันผวนที่รุนแรงจะมีหรือไม่

และสาม ทิศทางการแก้ไขปัญหาและมาตรการต่าง ๆ ที่จะออกมาในอนาคตจะเป็นอย่างไรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

และระหว่างที่รอความชัดเจนว่าผู้ทำนโยบายจะให้ความเห็นอย่างไรในประเด็นเหล่านี้ตลาดการเงินโลกก็คงไม่หยุดนิ่ง คงทำงานต่อ มีธุรกรรมซื้อขายต่อ เพียงแต่บริบทของการซื้อขายจะมาจากฐานของสภาพคล่องที่มีอยู่มากขณะนี้ และจากการคาดเดาว่าทิศทางคำตอบจะออกมาอย่างไร

ซึ่งถึงวันนี้ ผู้อ่านทุกท่านคงจะทราบผลสรุปและข่าวต่าง ๆ ที่ออกมาจากการประชุมที่โตเกียวแล้ว เพราะผมส่งต้นฉบับนี้ตั้งแต่คืนวันอังคารที่ 9 ตุลาคม ก่อนเดินทางไปญี่ปุ่นในวันที่ 10

ก็หวังว่าข้อสรุปที่ออกมาจะทำให้ตลาดการเงินมีความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาที่กำลังทำอยู่ขณะนี้ต่อไป

วันนี้คงจบแค่นี้ก่อน พบกันใหม่วันจันทร์หน้าครับ

วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555

Good Morning News จาก กองทุนบัวหลวง

วันนี้ขอลงข่าวสำหรับพรุ่งนี้เร็วหน่อย

เพราะเดี๋ยวจะเขียนบทความเรื่อง Sealand กับเตรียมเรื่องให้สัมภาษณ์รายการ Smart Money ของน้องเฟิร์น ในรายการมันนี่แชนแนล พรุ่งนี้ บ่ายสามครึ่ง เกี่ยวกับเรื่องข้าวและเศรษฐกิจไทย ซึ่งค่อนข้างยากในการหาข้อมูลที่เชื่อถือได้

ใน GM News ข้างล่างนี้ ในส่วนของ Equity ได้นำมุมมองของโบรกเกอร์ไทย 4 แห่งมาลงไว้ ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างกันด้วยค่ะ

----------------------------------------------------------------------

Good Morning News จาก กองทุนบัวหลวง

15 ตุลาคม 2555

General News
------------------

• Guy Ryder ผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ แถลงในเวทีการประชุมประจำปีของ World Bank และ IMF ว่า อัตราการว่างงานทั่วโลกในปัจจุบันยังสูงกว่าเมื่อครั้งวิกฤตการเงินในปี 2551 ถึง 30 ล้านคน และยังมีอีกเกือบ 40 ล้านคนที่เลิกคิดจะหางานทำแล้ว โดยในจำนวนคนว่างงานทั่วโลกกว่า 200 ล้านคนนั้นมีอายุต่ำกว่า 25 ปี มากถึง 1 ใน 3

นอกจากนี้ แม้ตลาดแรงงานทั่วโลกจะมีแรงงานเพิ่มขึ้น 40 ล้านคนต่อปี แต่กลุ่มคนที่มีงานทำ 900 ล้านคนกลับไม่สามารถหาเงินให้พอที่จะพ้นจากเส้นความยากจนที่วันละ 2 ดอลลาร์สหรัฐได้ และเมื่อมาตรการรัดเข็มขัดส่งผลกระทบมากกว่าที่เคยคาด จึงต้องเร่งทบทวนกรอบเวลาของการทำให้งบประมาณสมดุลโดยด่วนและขยายเวลาให้ยาวขึ้น

ถ้อยแถลงของเขาสอดคล้องกับที่ Christine Lagarde ผอ.IMF กล่าวในวันเดียวกัน แต่ Wolfgang Schauble รมต.คลังเยอรมนี ยืนยันว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องตัดลดหนี้ลงเท่านั้น โดย เฉพาะกลุ่มประเทศยูโรโซน 17 ประเทศซึ่งมีระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP สูง ส่วนแรงต่อต้านที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติของโลกประชาธิปไตย

• Mario Draghi ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ระบุว่า เห็นสัญญาณเชิงบวกและมุมมองในแง่ลบต่อเศรษฐกิจยูโรโซนดีขึ้นกว่าเมื่อหลายเดือนก่อน เนื่องจากยูโรโซนมีเครื่องมือแก้ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจยุโรปที่มีประสิทธิภาพแล้ว และธนาคารในยูโรโซนสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตหนี้ กับมีความคืบหน้าในการจัดตั้งสหภาพธนาคารยุโรปซึ่งสำคัญมากที่จะต้องตกลงกันได้ในวันแรกของปีหน้า แต่กว่าจะทำได้จริงในทางปฏิบัติ คาดว่าต้องใช้เวลาอีกหนึ่งปีหรือมากกว่านั้น

• ยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของฝรั่งเศสในเดือน ส.ค.แตะระดับ 4 พันล้านยูโร จาก 2.6 พันล้านยูโรในเดือน ก.ค. ส่วนยอดขาดดุลด้านสินค้าเดือน ส.ค.อยู่ที่ 5.7 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค.ที่ระดับ 4.3 พันล้านยูโร

• ผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลี เปิดเผยว่า โครงการรับซื้อพันธบัตรในยูโรโซนของอีซีบีส่งผลต่อตลาดแม้จะยังไม่ได้เริ่มทำจริง เพราะข่าวดังกล่าวได้คลายความกังวลในวิกฤตหนี้ของภูมิภาคได้บ้าง โดยเห็นได้จากความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศสมาชิกที่ลดลง

• สหรัฐเรียกร้องให้จีนกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศและเดินหน้าใช้นโยบายเงินหยวนตามกลไกตลาด เนื่องจากการส่งเสริมความต้องการภายในประเทศให้แข็งแกร่งจะเป็นผลดีต่อจีนและเศรษฐกิจโลก และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นจะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง โดยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีนมีการพัฒนาไปในเชิงบวก จากตัวเลขการส่งออกของสหรัฐไปยังจีนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

• ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐเดือน ก.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น 4.7% เป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2543 อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนี PPI จะสูงขึ้น แต่ภาวะเงินเฟ้อยังไม่ชัดเจนนัก และสหรัฐยังคงเผชิญกับภาวะซบเซาในตลาดแรงงาน

• Paul Krugman กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐมีมุมมองเชิงบวกเกินไปต่อเศรษฐกิจ โดยทีมงานของโอบามาไม่สามารถเล็งเห็นถึงสิ่งที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างยอมรับกันว่าวิกฤตการเงินที่รุนแรงได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวได้ รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐยังคงต้องการการใช้จ่ายของภาครัฐมาช่วยกระตุ้น

• IMF เปิดเผยว่า การขยายตัวของ GDP เอเชียในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกปี 2551 เป็นผลจากวิกฤตในยุโรปและปัญหาทางการคลังส่งผลกระทบไปยังช่องทางการค้า ขณะที่การฟื้นตัวในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วประสบภาวะทรุดตัว

ทั้งนี้ คาดว่า การขยายตัวจะค่อยๆ ดีขึ้นในอนาคต และเอเชียน่าจะยังคงเป็นผู้นำการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก โดยจะขยายตัวเร็วกว่าอัตราขยายตัวเฉลี่ยของโลกอยู่ 2%

• รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดการประเมินภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเป็นเดือนที่ 3 (เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี ที่ลดการประเมินภาวะเศรษฐกิจ) เนื่องจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง รวมถึงยอดการส่งออกชะลอตัวลง พร้อมกับเตือนเรื่องความไม่แน่นอนที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและจีน และวิกฤตหนี้ยูโร

• จีนมีแนวโน้มจะขาดดุลการท่องเที่ยวกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาน้อยลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยคาดว่าในปีนี้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจีนจะลดลง 2.2% เหลือ 132 ล้านคน

• ยอดส่งออกของจีนเดือน ก.ย. เท่ากับ 1.8635 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9.9% เมื่อเทียบรายปี โดยเป็นผลมาจากการค้ากับสหรัฐ ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของจีนเพิ่มขึ้น 9.1% ขณะที่การค้ากับสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นลดลง

• รัฐบาลและธนาคารกลางเกาหลีใต้ คาดการณ์ว่า เกาหลีใต้ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย จะขยายตัว 2% ในปีหน้า โดยมีความกังวลมากขึ้นในเรื่อง ...

1. เศรษฐกิจเกาหลีใต้อาจเข้าสู่ช่วงที่มีอัตราการขยายตัวต่ำ
2. วิกฤตหนี้สินในยูโรโซนคงยังไม่คลี่คลายในเร็วๆ นี้
3. การปรับลดงบประมาณค่าใช้จ่ายลงและการเพิ่มภาษีในสหรัฐ

• GDP ไตรมาส 3 ของสิงคโปร์หดตัวลง 1.5% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ตรงตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ว่าจะอยู่ในภาวะถดถอยทางเทคนิคซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจหดตัวลง โดยสิงคโปร์เคยเผชิญกับภาวะถดถอยดังกล่าวมาแล้วในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 อันเนื่องมาจากวิกฤตการเงินโลก

อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 1.5%-2.5% ในปีนี้

• ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของอินเดียเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 2.7% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ แม้การลงทุนจะหยุดชะงัก เนื่องจากมีแรงหนุนจากกิจกรรมในภาคธุรกิจเหมืองแร่ที่ปรับตัวขึ้น

• สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า ในปีหน้าจะมีผู้ว่างงานที่จบปริญญาตรีเพิ่มขึ้น 1.6-1.7 แสนคน จากปัจจุบันที่มีบัณฑิตจบใหม่ตกงานประมาณ 1.45 แสนคน โดยการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกับการขึ้นเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาท จะทำให้นายจ้างไม่จ้างคนใหม่เพิ่ม ซึ่งจะส่งผลกระทบหนักต่อผู้จบปริญญาตรีในเดือน ก.พ.ปีหน้า

• กรมการค้าภายใน พบว่า ราคาผักสดช่วงเทศกาลกินเจสูงกว่าปกติ เนื่องจากแหล่งเพาะปลูกได้รับผลกระทบจากพายุฝนที่ตกต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 สัปดาห์

• ธปท. จัดงานครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งในวันที่ 14 ต.ค.เวลา 20.00 น. ที่ ธปท. โดย Wolfgang Schauble รมต.คลังเยอรมนี จะแสดงปาฐกถาเรื่อง “Asia and Europe What we can learn from each other : Towards aneconomic policy model for the future”

Equity Market
-----------------

• SET Index ปิดที่ 1,296.98 จุด เพิ่มขึ้น 2.08 จุด หรือ 0.16% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 34,581.45 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 455.85 ล้านบาท ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวในแดนบวก-ลบสลับกันตามตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชีย

• ไพบูลย์ นลินทรางกูร CEO บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับขึ้นต่อเนื่องไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพราะปัจจัยพื้นฐานยังดีอยู่ และมีสภาพคล่องในตลาดโลกจำนวนมากที่ต่างหาโอกาสเข้ามาลงทุนในเอเชียโดยเฉพาะในอาเซียน โดยตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจมากที่สุดในอาเซียนในสายตานักลงทุนต่างชาติ จึงเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังไปได้ต่อ และอาจทำให้ดัชนีเป้าหมายในปีหน้าขึ้นไปถึง 1,450 จุด

• บล. กสิกรไทย คาดว่า หุ้นไทยระยะสั้นในสัปดาห์หน้ามีโอกาสปรับตัวขึ้น โดยต้องติดตามผลการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป ตัวเลขการส่งออก กับผลการประชุมนโยบายการเงินของ ธปท.

• บล.เอเซีย พลัส วิเคราะห์ว่า ตลาดหุ้นไทยฟื้นเพื่อฟุบ จึงแนะนำให้ทยอยลดพอร์ตหุ้นที่อยู่ในข่ายปรับฐานแรงกว่าตลาด เพราะแนวโน้มดัชนีหุ้นไทยจะขึ้นน้อยกว่าตลาดโลก หลังจากดีดขึ้นมามากถึง 26.3% ก่อนหน้านี้ และมีโอกาสทดสอบระดับแนวรับ 1,237 จุด ซึ่งมีนัยสำคัญ

ส่วน บล.ไทยพาณิชย์ มองว่า ข่าวดีมาถึงจุดสูงสุดแล้ว และยังคงเป้าหมายปีนี้ไว้ที่ 1,300 จุด แต่หากมีเงินต่างชาติไหลเข้ามามาก อาจจะหนุนให้ดัชนีขึ้นไปถึงระดับ 1,350 จุดได้ โดยคาดว่าหุ้นจะบวกต่อไปในเดือนนี้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโลกและกำไรบริษัทจดทะเบียน ส่วนเดือน พ.ย. จะผันผวน และเดือน ธ.ค. จะมีเม็ดเงินลงทุนของกองทุนรวมหุ้นระยะยาวเข้ามาซื้อหุ้น และมองแนวโน้มในปีหน้าว่ามีความเสี่ยงขาลงในช่วงครึ่งปีแรก

Fixed Income Market
--------------------------

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอยู่ในช่วงระหว่าง 0.00% ถึง 0.02% มูลค่าการซื้อขายรวม 80,269 ล้านบาท

Good moring กองทุนบัวหลวง โดยคุณ วรวรรณ ธาราภูมิ

วันนี้ขอลงข่าวสำหรับพรุ่งนี้เร็วหน่อย

เพราะเดี๋ยวจะเขียนบทความเรื่อง Sealand กับเตรียมเรื่องให้สัมภาษณ์รายการ Smart Money ของน้องเฟิร์น ในรายการมันนี่แชนแนล พรุ่งนี้ บ่ายสามครึ่ง เกี่ยวกับเรื่องข้าวและเศรษฐกิจไทย ซึ่งค่อนข้างยากในการหาข้อมูลที่เชื่อถือได้

ใน GM News ข้างล่างนี้ ในส่วนของ Equity ได้นำมุมมองของโบรกเกอร์ไทย 4 แห่งมาลงไว้ ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างกันด้วยค่ะ

----------------------------------------------------------------------

Good Morning News จาก กองทุนบัวหลวง

15 ตุลาคม 2555

General News
------------------

• Guy Ryder ผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ แถลงในเวทีการประชุมประจำปีของ World Bank และ IMF ว่า อัตราการว่างงานทั่วโลกในปัจจุบันยังสูงกว่าเมื่อครั้งวิกฤตการเงินในปี 2551 ถึง 30 ล้านคน และยังมีอีกเกือบ 40 ล้านคนที่เลิกคิดจะหางานทำแล้ว โดยในจำนวนคนว่างงานทั่วโลกกว่า 200 ล้านคนนั้นมีอายุต่ำกว่า 25 ปี มากถึง 1 ใน 3

นอกจากนี้ แม้ตลาดแรงงานทั่วโลกจะมีแรงงานเพิ่มขึ้น 40 ล้านคนต่อปี แต่กลุ่มคนที่มีงานทำ 900 ล้านคนกลับไม่สามารถหาเงินให้พอที่จะพ้นจากเส้นความยากจนที่วันละ 2 ดอลลาร์สหรัฐได้ และเมื่อมาตรการรัดเข็มขัดส่งผลกระทบมากกว่าที่เคยคาด จึงต้องเร่งทบทวนกรอบเวลาของการทำให้งบประมาณสมดุลโดยด่วนและขยายเวลาให้ยาวขึ้น

ถ้อยแถลงของเขาสอดคล้องกับที่ Christine Lagarde ผอ.IMF กล่าวในวันเดียวกัน แต่ Wolfgang Schauble รมต.คลังเยอรมนี ยืนยันว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องตัดลดหนี้ลงเท่านั้น โดย เฉพาะกลุ่มประเทศยูโรโซน 17 ประเทศซึ่งมีระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP สูง ส่วนแรงต่อต้านที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติของโลกประชาธิปไตย

• Mario Draghi ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ระบุว่า เห็นสัญญาณเชิงบวกและมุมมองในแง่ลบต่อเศรษฐกิจยูโรโซนดีขึ้นกว่าเมื่อหลายเดือนก่อน เนื่องจากยูโรโซนมีเครื่องมือแก้ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจยุโรปที่มีประสิทธิภาพแล้ว และธนาคารในยูโรโซนสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตหนี้ กับมีความคืบหน้าในการจัดตั้งสหภาพธนาคารยุโรปซึ่งสำคัญมากที่จะต้องตกลงกันได้ในวันแรกของปีหน้า แต่กว่าจะทำได้จริงในทางปฏิบัติ คาดว่าต้องใช้เวลาอีกหนึ่งปีหรือมากกว่านั้น

• ยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของฝรั่งเศสในเดือน ส.ค.แตะระดับ 4 พันล้านยูโร จาก 2.6 พันล้านยูโรในเดือน ก.ค. ส่วนยอดขาดดุลด้านสินค้าเดือน ส.ค.อยู่ที่ 5.7 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค.ที่ระดับ 4.3 พันล้านยูโร

• ผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลี เปิดเผยว่า โครงการรับซื้อพันธบัตรในยูโรโซนของอีซีบีส่งผลต่อตลาดแม้จะยังไม่ได้เริ่มทำจริง เพราะข่าวดังกล่าวได้คลายความกังวลในวิกฤตหนี้ของภูมิภาคได้บ้าง โดยเห็นได้จากความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศสมาชิกที่ลดลง

• สหรัฐเรียกร้องให้จีนกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศและเดินหน้าใช้นโยบายเงินหยวนตามกลไกตลาด เนื่องจากการส่งเสริมความต้องการภายในประเทศให้แข็งแกร่งจะเป็นผลดีต่อจีนและเศรษฐกิจโลก และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นจะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง โดยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีนมีการพัฒนาไปในเชิงบวก จากตัวเลขการส่งออกของสหรัฐไปยังจีนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

• ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐเดือน ก.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น 4.7% เป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2543 อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนี PPI จะสูงขึ้น แต่ภาวะเงินเฟ้อยังไม่ชัดเจนนัก และสหรัฐยังคงเผชิญกับภาวะซบเซาในตลาดแรงงาน

• Paul Krugman กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐมีมุมมองเชิงบวกเกินไปต่อเศรษฐกิจ โดยทีมงานของโอบามาไม่สามารถเล็งเห็นถึงสิ่งที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างยอมรับกันว่าวิกฤตการเงินที่รุนแรงได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวได้ รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐยังคงต้องการการใช้จ่ายของภาครัฐมาช่วยกระตุ้น

• IMF เปิดเผยว่า การขยายตัวของ GDP เอเชียในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกปี 2551 เป็นผลจากวิกฤตในยุโรปและปัญหาทางการคลังส่งผลกระทบไปยังช่องทางการค้า ขณะที่การฟื้นตัวในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วประสบภาวะทรุดตัว

ทั้งนี้ คาดว่า การขยายตัวจะค่อยๆ ดีขึ้นในอนาคต และเอเชียน่าจะยังคงเป็นผู้นำการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก โดยจะขยายตัวเร็วกว่าอัตราขยายตัวเฉลี่ยของโลกอยู่ 2%

• รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดการประเมินภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเป็นเดือนที่ 3 (เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี ที่ลดการประเมินภาวะเศรษฐกิจ) เนื่องจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง รวมถึงยอดการส่งออกชะลอตัวลง พร้อมกับเตือนเรื่องความไม่แน่นอนที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและจีน และวิกฤตหนี้ยูโร

• จีนมีแนวโน้มจะขาดดุลการท่องเที่ยวกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาน้อยลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยคาดว่าในปีนี้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจีนจะลดลง 2.2% เหลือ 132 ล้านคน

• ยอดส่งออกของจีนเดือน ก.ย. เท่ากับ 1.8635 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9.9% เมื่อเทียบรายปี โดยเป็นผลมาจากการค้ากับสหรัฐ ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของจีนเพิ่มขึ้น 9.1% ขณะที่การค้ากับสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นลดลง

• รัฐบาลและธนาคารกลางเกาหลีใต้ คาดการณ์ว่า เกาหลีใต้ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย จะขยายตัว 2% ในปีหน้า โดยมีความกังวลมากขึ้นในเรื่อง ...

1. เศรษฐกิจเกาหลีใต้อาจเข้าสู่ช่วงที่มีอัตราการขยายตัวต่ำ
2. วิกฤตหนี้สินในยูโรโซนคงยังไม่คลี่คลายในเร็วๆ นี้
3. การปรับลดงบประมาณค่าใช้จ่ายลงและการเพิ่มภาษีในสหรัฐ

• GDP ไตรมาส 3 ของสิงคโปร์หดตัวลง 1.5% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ตรงตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ว่าจะอยู่ในภาวะถดถอยทางเทคนิคซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจหดตัวลง โดยสิงคโปร์เคยเผชิญกับภาวะถดถอยดังกล่าวมาแล้วในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 อันเนื่องมาจากวิกฤตการเงินโลก

อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 1.5%-2.5% ในปีนี้

• ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของอินเดียเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 2.7% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ แม้การลงทุนจะหยุดชะงัก เนื่องจากมีแรงหนุนจากกิจกรรมในภาคธุรกิจเหมืองแร่ที่ปรับตัวขึ้น

• สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า ในปีหน้าจะมีผู้ว่างงานที่จบปริญญาตรีเพิ่มขึ้น 1.6-1.7 แสนคน จากปัจจุบันที่มีบัณฑิตจบใหม่ตกงานประมาณ 1.45 แสนคน โดยการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกับการขึ้นเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาท จะทำให้นายจ้างไม่จ้างคนใหม่เพิ่ม ซึ่งจะส่งผลกระทบหนักต่อผู้จบปริญญาตรีในเดือน ก.พ.ปีหน้า

• กรมการค้าภายใน พบว่า ราคาผักสดช่วงเทศกาลกินเจสูงกว่าปกติ เนื่องจากแหล่งเพาะปลูกได้รับผลกระทบจากพายุฝนที่ตกต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 สัปดาห์

• ธปท. จัดงานครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งในวันที่ 14 ต.ค.เวลา 20.00 น. ที่ ธปท. โดย Wolfgang Schauble รมต.คลังเยอรมนี จะแสดงปาฐกถาเรื่อง “Asia and Europe What we can learn from each other : Towards aneconomic policy model for the future”

Equity Market
-----------------

• SET Index ปิดที่ 1,296.98 จุด เพิ่มขึ้น 2.08 จุด หรือ 0.16% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 34,581.45 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 455.85 ล้านบาท ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวในแดนบวก-ลบสลับกันตามตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชีย

• ไพบูลย์ นลินทรางกูร CEO บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับขึ้นต่อเนื่องไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพราะปัจจัยพื้นฐานยังดีอยู่ และมีสภาพคล่องในตลาดโลกจำนวนมากที่ต่างหาโอกาสเข้ามาลงทุนในเอเชียโดยเฉพาะในอาเซียน โดยตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจมากที่สุดในอาเซียนในสายตานักลงทุนต่างชาติ จึงเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังไปได้ต่อ และอาจทำให้ดัชนีเป้าหมายในปีหน้าขึ้นไปถึง 1,450 จุด

• บล. กสิกรไทย คาดว่า หุ้นไทยระยะสั้นในสัปดาห์หน้ามีโอกาสปรับตัวขึ้น โดยต้องติดตามผลการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป ตัวเลขการส่งออก กับผลการประชุมนโยบายการเงินของ ธปท.

• บล.เอเซีย พลัส วิเคราะห์ว่า ตลาดหุ้นไทยฟื้นเพื่อฟุบ จึงแนะนำให้ทยอยลดพอร์ตหุ้นที่อยู่ในข่ายปรับฐานแรงกว่าตลาด เพราะแนวโน้มดัชนีหุ้นไทยจะขึ้นน้อยกว่าตลาดโลก หลังจากดีดขึ้นมามากถึง 26.3% ก่อนหน้านี้ และมีโอกาสทดสอบระดับแนวรับ 1,237 จุด ซึ่งมีนัยสำคัญ

ส่วน บล.ไทยพาณิชย์ มองว่า ข่าวดีมาถึงจุดสูงสุดแล้ว และยังคงเป้าหมายปีนี้ไว้ที่ 1,300 จุด แต่หากมีเงินต่างชาติไหลเข้ามามาก อาจจะหนุนให้ดัชนีขึ้นไปถึงระดับ 1,350 จุดได้ โดยคาดว่าหุ้นจะบวกต่อไปในเดือนนี้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโลกและกำไรบริษัทจดทะเบียน ส่วนเดือน พ.ย. จะผันผวน และเดือน ธ.ค. จะมีเม็ดเงินลงทุนของกองทุนรวมหุ้นระยะยาวเข้ามาซื้อหุ้น และมองแนวโน้มในปีหน้าว่ามีความเสี่ยงขาลงในช่วงครึ่งปีแรก

Fixed Income Market
--------------------------

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอยู่ในช่วงระหว่าง 0.00% ถึง 0.02% มูลค่าการซื้อขายรวม 80,269 ล้านบาท