วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ปัญหาท้าทายในการแก้เศรษฐกิจโลก

ประเด็นท้าทายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกขณะนี้

ดร.บัณฑิต นิจถาวร
15 ตค 55

เดือนตุลาคมเป็นเดือนสำคัญประจำปีของระบบการเงินโลก เพราะเป็นเดือนการประชุมร่วมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลกที่ผู้นำด้านเศรษฐกิจในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จะหารือเพื่อกำหนดแนวการดำเนินนโยบายร่วมกัน ทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ และเพื่อสร้างเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ปีนี้การประชุมจัดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ช่วงวันที่ 8 - 14 ตุลาคม และพร้อมกับการหารือของภาคทางการ ภาคเอกชนเอง โดยเฉพาะสถาบันในตลาดการเงินก็จะมีเวทีประชุมหรือสัมมนาในประเด็นต่างๆ ขนานกันไปด้วย ซึ่งผมเองก็ถูกเชิญให้ไปร่วมประชุมในเวทีภาคเอกชนหลายเวที

ปีนี้บรรยากาศการประชุมไม่เป็นบวกร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการประชุมคราวนี้มีขึ้นในช่วงที่ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกกำลังมีความท้าทายที่สำคัญหลายด้าน


ด้านแรก
----------

เศรษฐกิจโลกขณะนี้ชะลอตัวค่อนข้างชัดเจนและกว้างขวาง โดยประเทศที่สำคัญทั้งในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก และประเทศกำลังพัฒนา การขยายตัวกำลังลดลง และในบางประเทศ เช่น ในกลุ่มยุโรป อัตราการขยายตัวติดลบ ทำให้องค์กรระหว่างประเทศที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ต่างปรับลดการประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงจากต้นปี


ด้านที่สอง
-----------

ปัญหาในยุโรปที่ยังไม่ชัดเจนว่า ตัวปัญหาจะมีพัฒนาการอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะในแง่ผลกระทบและความรุนแรง ขณะที่แนวทางแก้ไขปัญหาถึงแม้จะเริ่มชัดว่าจะออกในรูปของการสร้างความเข้มแข็งให้มากขึ้นกับการรวมตัวด้านการเงินและการคลังของประเทศในกลุ่มเงินสกุลยูโร แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าภาคทางการประเทศเหล่านี้จะสามารถทำอะไรเพิ่มเติมได้อีกในระยะสั้นในแง่มาตรการเพื่อแก้เศรษฐกิจที่ถดถอยและการว่างงานที่สูง

นอกจากนี้ ก็ยังมีความไม่แน่นอนว่า กรีซจะสอบผ่านเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือครั้งที่สองหรือไม่ เพื่อให้สามารถเบิกเงินช่วยเหลืองวดต่อไปได้

และก็มีกรณีของสเปนที่ยังไม่ชัดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินและการว่างงานที่มีอยู่สูงได้หรือไม่ โดยไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารกลางยุโรปและสหภาพยุโรป เหมือนกรณีของกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส

ความไม่แน่นอนในกรีซและสเปนนี้ตลาดการเงินมองว่า ยังเป็นความเสี่ยงที่อาจปะทุเป็นปัญหาหรือวิกฤตที่รุนแรงได้


ด้านที่สาม
-----------

ความไม่ชัดเจนว่าแนวทางการใช้นโยบายการคลังและการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมหลักจะเดินอย่างไรต่อ เพราะดูเหมือนผู้ทำนโยบายทั้งในสหรัฐและยุโรป จะหมดพื้นที่ที่จะใช้นโยบายการคลังและการเงินเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา

ในส่วนของนโยบายการคลัง ข้อจำกัดสำคัญก็คือ ระดับหนี้ที่ประเทศที่มีปัญหาหนี้สูงมีขณะนี้ที่ทำให้การใช้นโยบายการคลังเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้ยากขึ้น

และในส่วนของนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากบวกกับการใช้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง หรือมาตรการ QE ในหลายประเทศ เพื่อดูแลเสถียรภาพของตลาด ก็ยังไม่ให้ผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หรือต่อการลดอัตราการว่างงานที่สูง

คำถามที่นักลงทุนมีอยู่ในใจขณะนี้ ก็คือ ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น จะสามารถทำอะไรได้อีก เพื่อแก้ไขปัญหา


เฉพาะในประเด็นนโยบายการเงิน ต้องยอมรับว่าธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมกำลังเจอความท้าทายสำคัญว่า การใช้นโยบายการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมาถึงทางตันหรือยัง

เพราะถ้าเราดูช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกปะทุขึ้นเมื่อปี 2008 ธนาคารกลางในประเทศที่มีปัญหาดูเหมือนได้พยายามทำทุกอย่าง รวมถึงการใช้มาตรการนอกเหนือจากสิ่งที่เคยใช้เพื่อแก้ไขปัญหา

ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นศูนย์ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2008 ได้อัดฉีดสภาพคล่องโดยการซื้อสินทรัพย์ประเภท Mortgage - backed Securities และตั๋วการคลังมากกว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นภาวะในตลาดอสังหาริมทรัพย์

สภาพคล่องดังกล่าวได้ช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเงินฝืดและปัญหาในระบบสถาบันการเงินได้ แต่ไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจหรือลดอัตราการว่างงานลง เศรษฐกิจสหรัฐยังขยายตัวต่ำในอัตราประมาณร้อยละสองต่อปี ขณะที่อัตราการว่างงานก็ยังอยู่ประมาณแปดเปอร์เซ็นต์

ที่สำคัญนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากดังกล่าว โดยเฉพาะการอัดฉีดสภาพคล่องที่คาดว่าจะมีต่อไปจนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะดีขึ้นตามนโยบาย QE3 ได้ ทำให้เกิดความห่วงใยว่าจะสร้างความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงตามมา

อันนี้เป็นความห่วงใยที่มีการพูดกันมากขึ้น จนเริ่มมีคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความเสี่ยงของการอัดฉีดสภาพคล่อง

คำถามนี้มาจากทั้งในตลาดการเงิน นักวิชาการ ฝ่ายการเมืองในสหรัฐ และแม้แต่ในแวดวงธนาคารกลางด้วยกันเอง

ดังนั้น ความท้าทายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกขณะนี้มีมาก ทั้งในแง่ของตัวปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ และแนวทางการแก้ไขที่ควรดำเนินการต่อไป

ความไม่ชัดเจนเหล่านี้ ทำให้การประชุมที่โตเกียวเดือนนี้ตลาดการเงินจะเฝ้าดูมากว่าผู้ทำนโยบายจะมีคำตอบในเรื่องเหล่านี้อย่างไร

คำตอบที่รออยู่ก็คือ ...

หนึ่ง เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวต่อไปนานมากน้อยแค่ไหนในมุมมองของผู้ทำนโยบายและองค์กรที่เกี่ยวข้อง

สอง ความเสี่ยงที่ปัญหาในกรีซ และสเปนจะปะทุขึ้นเป็นปัญหาหรือความผันผวนที่รุนแรงจะมีหรือไม่

และสาม ทิศทางการแก้ไขปัญหาและมาตรการต่าง ๆ ที่จะออกมาในอนาคตจะเป็นอย่างไรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

และระหว่างที่รอความชัดเจนว่าผู้ทำนโยบายจะให้ความเห็นอย่างไรในประเด็นเหล่านี้ตลาดการเงินโลกก็คงไม่หยุดนิ่ง คงทำงานต่อ มีธุรกรรมซื้อขายต่อ เพียงแต่บริบทของการซื้อขายจะมาจากฐานของสภาพคล่องที่มีอยู่มากขณะนี้ และจากการคาดเดาว่าทิศทางคำตอบจะออกมาอย่างไร

ซึ่งถึงวันนี้ ผู้อ่านทุกท่านคงจะทราบผลสรุปและข่าวต่าง ๆ ที่ออกมาจากการประชุมที่โตเกียวแล้ว เพราะผมส่งต้นฉบับนี้ตั้งแต่คืนวันอังคารที่ 9 ตุลาคม ก่อนเดินทางไปญี่ปุ่นในวันที่ 10

ก็หวังว่าข้อสรุปที่ออกมาจะทำให้ตลาดการเงินมีความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาที่กำลังทำอยู่ขณะนี้ต่อไป

วันนี้คงจบแค่นี้ก่อน พบกันใหม่วันจันทร์หน้าครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น