วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คนรวยๆ เขาลงทุนอะไรให้ปลอดภัยจากมรสุมเศรษฐกิจ

คนรวยๆ เขาลงทุนอะไรให้ปลอดภัยจากมรสุมเศรษฐกิจ

วรวรรณ ธาราภูมิ
CEO บลจ.บัวหลวง

23 ตุลาคม 2555

เมื่อคิดจะหาแหล่งหลบภัยในการลงทุนหากเกิดเหตุร้าย บางคนอาจจะคิดถึงการถอนเงินฝากและเงินลงทุนมาเก็บในเซฟที่บ้าน เรียกว่าไม่ไว้ใจใครแล้วนอกจากตัวเอง เลยฝังตุ่มบ้านเรานี่ละ

แต่เก็บไปเก็บมา ราขึ้น แบงค์เปื่อย หรือน้ำท่วมตู้เซฟจนความแตก เลยโดนข้อหาร่ำรวยผิดปกติไปก็มี

หรือเก็บไปเก็บมา ค่าเงินบาทโดนลดไป 50% อ้าวหายรวยไปครึ่งนึง ทำไงดีล่ะ

มาถึงตรงนี้ บางคนอาจนึกออกแล้วว่าควรเก็บเป็นทองคำไว้บ้าง เพื่อให้คงคุณค่าและอำนาจซื้อไว้ หรือเวลามีสงครามใหญ่ก็เอามาทยอยขายแลกปัจจัยสี่ห้าหก ตามแบบคุณปู่มาคิยงของลุงมาร์ค ฟาเบอร์ ที่เหรียญทองคำช่วยให้รอดชีวิตจากความทารุณในช่วงสงครามมาจนมีพ่อลุงมาร์ค แล้วก็มีผลผลิตมหัศจรรย์อย่างลุงมาร์ค ที่ออกมาด่าการเมืองในสหรัฐมาจนถึงวันนี้

แต่คนที่รวยมากๆ เขาไม่ได้มองแต่ทองคำกันหรอก หมายถึงคนที่รวยจนล้นเหลือ รวยจนเบื่อที่จะมีแต่ทองคำ คนกลุ่มน้อยนิดนี้เขามีทางเลือกอื่นเพิ่มเติม

แถมตา Jim O’Neill ประธานกรรมการ Goldman Sachs Asset Management. ยังออกมาบอกว่า “ความคิดที่เชื่อว่ามี Safe Haven หรือแหล่งปลอดภัยตลอดกาลที่จะเอาความมั่งคั่งของเราไปลงทุน มันเป็นอันตราย”

เอ้า ยังอ่านไม่จบ อย่าเพิ่งร้องกรี๊ดขยับปีกที่ไหม้ไปแล้วครึ่งนึง บินพรึ่บๆ ตาลีตาเหลือก ออกไปขายทองคำทิ้งเพราะคำพูดตา Jim กันล่ะ ก็ที่เขาพูดนั้น เขาหมายถึงพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันต่างหาก

จริงอยู่ ทองคำเป็น Safe Haven ที่คนทั่วโลกนิยมกันมากที่สุด เพราะทองคำสามารถดำรงอำนาจซื้อไว้ได้ และไม่เสื่อมคุณค่าของตัวมันเอง แต่ทองเป็นก้อนๆ เป็นแท่งๆ หรือเป็นเหรียญจำนวนมากๆ มันก็หนักนะ ยกเว้นพวกที่ซื้อกองทุน ETF ทองคำ ที่ไม่ต้องเก็บรักษาเอง อย่างนี้ก็ไม่หนัก

แต่เศรษฐีเขายังหนักใจกัน เพราะกลัวว่า เอ... ถ้าเกิดอะไรขึ้นแล้วโดนรัฐยึดทองคำไว้ ทีนี้จะทำยังไงกันล่ะ

ดังนั้น เศรษฐีที่ร่ำรวยมากๆ ก็เลยคิดกันว่ามีแต่ทองคำก็อาจจะไม่ปลอดภัย ก็ดูอย่างตาฮูโก้ ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซูเอลลาสิ เขายังเอาทองคำสำรองของรัฐบาลเวเนซูเอลลากว่า 211 ตันที่เคยเก็บไว้ในธนาคารยุโรปกับสหรัฐอเมริกาใส่เรือกลับคืนประเทศเมื่อเดือน พย ปีก่อนเลย คงเพราะกลัวว่ารัฐบาลตะวันตกจะเข้าตาจน แล้วจะยึดเอาทองคำไป

เอ้า พวกเราที่มีทองเล็กๆ น้อยๆ ผ่านการลงทุนในกองทุนทองคำ ถ้าจะแตกตื่นตามตาฮูโก้ ชาเวซ ก็ตามใจ ไม่ว่ากัน แต่ต้องถามตนเองก่อนว่าถอนออกมาแล้วจะเอาไปซื้อทองคำอีกไหม ซื้อแล้วจะเอาไปเก็บที่ไหน หรือจะใส่เป็นทองรูปพรรณกันให้เต็มคอ แล้วมันจะปลอดภัยไหม หรือจะเปลี่ยนเป็นเงินสด หรือจะไปลงทุนอย่างอื่น

คิดไปคิดมาชักปวดหัว เพราะจะเก็บเป็นเงินสด เงินฝาก ตราสารหนี้ หรือพันธบัตร ก็กลัวเสื่อมอำนาจซื้อจากเงินเฟ้อ จะซื้อหุ้นก็กลัวเจ๊ง อย่ากระนั้นเลย สู้เอาเงินที่เก็บหอมรอบริบนี่ไปช็อปปิ้งกันให้สบายใจดีกว่า

เอา จะทำอะไรก็ทำ เงินใครเงินมันอยู่แล้ว ขอแต่ว่าถ้าพลาดพลั้งไปก็อย่ามากระพือปีกไหม้ๆ ร้องไห้กระซิกๆ ให้เห็นแล้วกัน

เรื่องที่เศรษฐีตัวจริงเขาสะสมเงินที่ล้นเหลือไปไว้ที่ไหนกันบ้างนั้น ต้องบอกว่ามีหลายอย่างเลย นอกจากทองคำแล้ว เศรษฐียังสะสมงานศิลปะ วิสกี้ ไวน์ เหรียญโบราณในสกุลเงินประหลาดๆ ที่คนไม่ค่อยรู้จักกัน และอื่นๆ อีกมาก

แต่จะสะสมอะไรก็ว่ากันไป อย่าไปสะสมกิ๊ก เพราะนอกจากจะเป็นอันตรายต่อชีวิตหากคุณนายรู้แล้ว กิ๊กยังมีแต่เสื่อมค่าลงไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา คุณผู้ชายอย่ามาเถียงเป็นอันขาดนะ

ตัวอย่างการลงทุนของเศรษฐีอเมริกัน
----------------------------------------

1. พันธบัตรรัฐบาลคานาดา (Canadian Bonds)

Financial Post รายงานว่า มีการซื้อ Canadian Bond กันมากขึ้นจนทำสถิติสูงถึง 16,700 ล้านคานาเดียนดอลลาร์ ในเดือนพฤษภาคม 2555

เรื่องนี้ Jeff Herold กับ Maria Berlettano ผู้เป็นผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ของ J. Zechner Associates บอกว่า ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ที่มีความกังวลเรื่องวิกฤติในยุโรปได้หันไปหาแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยผ่าน Canadian Bond ซึ่งรักษาอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AAA เอาไว้ได้

เศรษฐีก็ทำได้เช่นกัน

2. Scandinavian Bonds

ยิ่งสถานการณ์กลุ่มยูโรแย่ลง พันธบัตรของ Sweden, Norway และ Denmark ก็ยิ่งมีราคาตลาดสูงขึ้น เพราะมีฐานะการเงินการคลังที่แข็งแรงกว่ามาก

เรื่องนี้ DNB ซึ่งเป็นธนาคารใน Norway ถึงกับออกพันธบัตรรุ่นพิเศษมารองรับความต้องการของผู้ลงทุนสถาบันจากต่างประเทศและบรรดาเศรษฐีเมืองนอกที่แห่กันมาซื้อทีเดียว

Rob Stewart ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้และเงินตราต่างประเทศ ที่ Rothschild Wealth Management ยังถึงกับออกมาประกาศว่า Sweden, Norway และ Denmark เป็นที่ที่ปลอดภัยใน การลงทุนและมีพันธบัตรที่แข็งแรงมั่นคง

3. Japanese Yen

Wall Street Journal รายงานว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ ธนาคารกลางทั่วโลกได้เพิ่มทุนสำรองของตนด้วยการการลงทุนในเงินเยนของญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นถึง 22% เพราะค่าเงินเยนแข็งขึ้นมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงทำให้ตลาดคาดกันว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องต่อสู้ให้ค่าเงินเยนอ่อนลง มิฉะนั้นการส่งออกจะลำบาก

J.P. Morgan ก็ได้แนะนำให้ลูกค้าซื้อเงินเยนในช่วงเศรษฐกิจกำลังเป็นขาลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของญี่ปุ่นเป็นศูนย์ อัตราดอกเบี้ยปล่อยกู้ก็ต่ำมากด้วย ทำให้มีการกู้เงินสกุลเยนในต้นทุนต่ำเพื่อเอาไปลงทุนในตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า (Yen Carry Trade) และเมื่อถึงกำหนดคืนเงินเยนที่กู้มา (Deleveraging) ก็จะมีการหาเงินเยนมาคืนเจ้าหนี้ ทำให้สามารถทำกำไรจากการลงทุนในเงินเยนได้

3 อย่างข้างต้นนั้น จัดเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets)

แต่ยังมีสินทรัพย์จริงที่จับต้องได้ (Non-financial Assets) ที่บรรดาเศรษฐีนิยมลงทุนกันอีกหลายอย่าง เช่น

1. ที่ดินการเกษตร

ที่ดินการเกษตรเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยและทรงคุณค่า เพราะมีปริมาณจำกัด ในขณะที่มีคนต้องการเพิ่มขึ้นเสมอ

Tom Eisenhauer ผู้เป็น President ของ Bonnefield Financial ชี้ว่า ราคาที่ดินการเกษตรสามารถต้านทานเงินเฟ้อได้ดีกว่าทองคำ ในขณะที่ Simon Black บอกว่า ที่ดินการเกษตรเป็นการลงทุนที่ดีในการต้านทานเงินเฟ้อเพราะความต้องการอาหารมีแต่จะเพิ่มขึ้น และ John Taylor หัวหน้าฝ่าย Farm and Ranch ของ U.S. Trust ยืนยันว่า มีมมุมมองว่าที่ดินการเกษตรจะเป็นตลาดกระทิง เพราะขนาดไม่มีข่าวดีเลยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แถมยังมีแต่ข่าวร้ายๆ ราคาก็ยังขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งยังขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตอีกด้วย

2. ไม้

อะไรนะ ไม้น่ะเหรอ

ใช่ ไม้จริงๆ นั่นแหละ หมายถึง ไม้แผ่น ไม้ซุง

ไม้เป็น Soft Commodity ชนิดหนึ่งด้วย และการลงทุนในไม้ก็มีประวัติศาสตร์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีมากโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อเช่นกัน

Larry D. Spears บันทึกไว้ว่า การลงทุนในไม้ที่สหรัฐอเมริกาให้ผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 22% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 1973 ถึง 1981 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงเดียวกันเป็น 9.2%

ส่วน R. Dennis Moon กรรมการผู้จัดการ ของกลุ่มบริหารสินทรัพย์พิเศษของ U.S. Trust เล่าว่า แม้ตลาดบ้านในสหรัฐจะฟุบมาหลายปี แต่เขามีลูกค้ารายหนึ่งใน Long Island ที่ลงทุน 50 ล้านดอลลาร์ ในพื้นที่ที่มีไม้ใหญ่

อย่างบ้านเราก็น่าคิด ถ้าเป็นพื้นที่ว่างเปล่าในต่างจังหวัดไกลๆ ที่ปลูกสักทองได้ ก็น่าปลูกไว้ เพื่อให้ลูกเก็บกินในอีกสัก 30-40 ปีข้างหน้า คล้ายๆ กับฝากออมสินไว้ให้ลูกนั่นแหละ แต่ก่อนตัดต้องไปขออนุญาตจากรัฐก่อนนะ

3. ปืน

การสะสมปืนสามารถดำรงคุณค่าได้ (เพราะราคาขึ้นไปตามเวลา) เศรษฐีเลยนิยมสะสมปืนและกระสุนกันมาก

ตัวอย่างก็คือ ราคาของปืน Remington .223 ที่อ้างอิงจาก ammo.net มีราคาขึ้นจากปี 1999 ถึง 2011 ถึง 224% ชนะเงินเฟ้อในช่วงเดียวกันมากมาย

นอกจากนี้ Wall Street Journal ยังรายงานว่า ราคาปืนพุ่งกระฉูด เพราะคาดกันว่า Barack Obama จะได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง แล้วจะออกกฏหมายควบคุมอาวุธ และยังระบุว่ามีความต้องการปืนมากเกินกว่ากำลังการผลิตด้วย เห็นได้จากที่ Michael O. Fifer ผู้เป็น CEO ของ Sturm, Ruger & Co. ออกมาแถลงว่า บริษัทขอระงับการรับออร์เด้อร์ซื้อปืนไว้ชั่วคราว เพราะยอดขายในไตรมาสแรกปีนี้เกินกว่าที่คาดไว้มาก เลยผลิตไม่ทันความต้องการที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

เอ ... มีความต้องการขนาดนี้แล้วคงไม่ใช่ว่ามีแต่เศรษฐีซื้อแล้วละ และหากคนทั่วไปผสมโรงซื้อด้วยก็อาจหมายถึงความรุนแรงหรือความถี่ของอาชญากรรมในอเมริกาเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะโยงไปถึงเรื่องที่
รัฐบาลท้องถิ่นไม่มีเงินจ้างตำรวจเพียงพอก็ได้

4. นาฬิกา

เรื่องนาฬิกานี้ไม่ใช่ว่าทุกยี่ห้อจะลงทุนแล้วหวังผลกำไรในอนาคตได้เสมอไป คนที่ซีเรียสเรื่องการลงทุนในนาฬิกาจริงๆ จึงมักลงทุนใน Rolex กับ Patek Philippe เป็นหลัก เพราะเป็นยี่ห้อที่ขายออกได้คล่องที่สุด และได้กำไรดี ซึ่งอย่างหลังนี้บริษัทผู้ผลิตมีความเป็นอัจริยะทางการตลาดที่สามารถทำให้ยี่ห้อของตนที่เคยผลิตออกมามีราคาขึ้นมาโดยตลอด

เจ้าของร้านแอนทีคในลอนดอนชื่อ George Somlo ให้ข้อสังเกตุว่า การซื้อนาฬิกาข้อมือที่เป็นแอนทีคในช่วงเศรษฐกิจขาลงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเสมอ ซึ่ง Eric Engh ผู้จัดการเวบไซท์ Old Watch ก็ยืนยันว่า เมื่อนาฬิกาชั้นดียี่ห้อใด รุ่นใด เป็นที่นิยม ก็จะมีคนต้องการอยากจะครอบครองกันมาก และยอมจ่ายในราคาที่สูงลิ่ว

5. สแตมป์

Handbook of Personal Wealth Management เขียนเอาไว้ว่า แสตมป์เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ลงทุนประเภทจับต้องได้ (ไม่ใช่ Financial Assets อย่างหุ้นและพันธบัตร) ที่มี Record ว่าให้ ผลตอบแทนที่มั่นคงและดีมากมายาวนานที่สุด และถึงแม้สแตมป์จะบอบบาง ถูกทำลายได้ง่าย แต่แสตมป์เก่าๆ ก็มีค่าคล้ายๆ รถคลาสสิคที่คนนิยมสะสม หรือหนังสือการ์ตูนยอดนิยมเก่าๆ

มิน่า ลุง Bill Gross (PIMCO) ถึงได้สะสมแสตมป์มีค่าไว้ถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทีเดียว และส่วนมากก็ได้มาจากการที่ลุงเข้าไปประมูลช่วยการกุศลด้วย

นึกถึงหนังสือการ์ตูนเก่าๆ ที่เคยติดงอมแงมสมัยเด็กๆ อย่าง ขวานฟ้าหน้าดำ ชะมัด

เนี่ยะ ถ้าเก็บไว้ดีๆ ป่านนี้ก็สบายไปแล้ว

ดังนั้น เราก็อาจจะเริ่มสะสมสแตมป์ (ทั้งๆ ที่เดี๋ยวนี้เราติดต่อทางอินเตอร์เนตกันแล้ว) และสะสม การ์ตูนซุปเปอร์ไซย่า กันไว้ได้แล้ว

อ้าว อย่าเพิ่งหัวเราะว่าโลกไปยุคเทคโนโลยี่ eBook แล้ว จะให้เก็บไว้ทำไม

อย่าลืมสิ ต่อไปจะมีคนถวิลหาสิ่งที่ยึดโยงเราไว้กับอดีต จะมีคนอยากเงยหน้าขึ้นมาจาก Smart Phone เพื่อจับต้องกระดาษจริงที่มีแต่จะหายากขึ้นทุกที

ก็คงคล้ายๆ กับที่เราเห็นเครื่องพิมพ์ดีดโบราณ เห็นฉลากยาเก่าๆ แล้วทึ่ง อยากเป็นเจ้าของกันนั่น แหละ

6. งานศิลปะ

หลายคนคงไม่รู้ว่าในทศวรรษที่ผ่านมานี้ ดัชนี Mei Moses (ดัชนีสำคัญที่โลกใช้สำหรับงานศิลปะ) ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนี S&P500 ถึง 6 เท่า

กูรูด้านพันธบัตรอย่าง Jeff Gundlach ยังถึงกับบอกว่า งานศิลปะก็คือทองคำในเวอร์ชั่นที่พกพาไปไหนๆ ได้ (เพราะในราคาที่เท่าๆ กัน ทองคำจะหนักกว่า) โดยสามารถดำรงอำนาจซื้อได้เท่าๆ กับทองคำ

หากจะดูว่ากำลังซื้อในงานศิลปะและการลงทุนในงานศิลปะโดยเฉพาะภาพเขียนนั้นดีขนาดไหน วิธีดูที่ดีก็คือให้ไปดูราคางานศิลปะที่บริษัทประมูลปล่อยไปได้ กับดูยอดขาย ผลกำไร และราคาต่อหุ้นของบริษัทประมูล

ไปดูตัวอย่างที่ Sotheby อันเป็นบริษัทประมูลข้ามชาติเก่าแก่เป็นอันดับ 4 ของโลกซึ่งก่อตั้งในปี 1744 มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐ มีอีก 90 สำนักงานในอีก 40 ประเทศ ก็ได้

บริษัทนี้ทำธุรกิจประมูลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกของศิลปะการตกแต่ง เครื่องประดับ และของสะสม ซึ่งในปี 2011 มียอดขายทั่วโลก รวมถึง 5,800 ล้านดอลลาร์

ตั้งแต่ปี 2009 หุ้นของ Sotheby ได้ขึ้นจากจุดต่ำสุดในช่วงนั้นที่ 6.47 มาเป็น 30.58 ดอลลาร์ต่อหุ้น

แบบนี้จะเรียกว่าเป็นตลาดกระทิงของงานศิลปะก็ไม่ผิดหรอก

ก็ขนาดภาพเขียน Pop Art ของ Andy Warhol ยังมีคนประมูลไปได้ในราคาตั้งพันล้านบาท จนเดี๋ยวนี้ผลงานภาพเขียนของเขาหากคำนวณเป็น Market Cap. ก็น่าจะแซงเบอร์หนึ่งอย่าง ปิคาสโซ ไปแล้ว



7. เพ็ชร

Alan Landau ผู้เป็น CEO ของ Novel Asset Management ให้สัมภาษณ์ใน Bloomberg TV ว่า

“เพชรเป็นการลงทุนที่ยอดเยี่ยมและปลอดภัย แม้จะมีสภาพคล่องน้อยกว่าทองคำอยู่มาก แต่ราคาก็ไม่ผันผวนเท่าราคาทองคำ ทั้งยังกำลังเป็นที่สนใจในการลงทุนเพื่อหลบภัยจากค่าเงินดอลลาร์อีกด้วย”

ความจริงนอกจากเพ็ชรแล้ว พวกอัญมณีประเภทต่างๆ ก็ได้รับความนิยมในการสะสมเพิ่มขึ้น

มีคนบอกว่า นอกจากคุณค่าในเชิงการลงทุนที่ดีแล้ว เพ็ชรและอัญมณี มีมนตรามหาเสน่ห์ให้คนหลงไหลในความงดงามอย่างถอนตัวได้ลำบาก

จริงเท็จอย่างไร ลองจุดธูปถามคุณป้า Elizabeth Taylor ดูก็ได้ ก็ Jewelry Collection ของเธอที่เปิดประมูลไปเมื่อเร็วๆ นี้ทำให้คนที่ได้ดูแม้เพียงรูปยังอ้าปากค้าง แม่จ้าว อะไรมันจะอลังการงานสร้างและมีเป็นจำนวนมากได้ถึงขนาดนั้น

ลองไปดูงานประมูลเพ็ชรที่ทำสถิติราคาสูงสุดกันบ้าง

Christie’s รายงานว่า เพ็ชรสีชมพูขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยออกประมูล ชื่อ The Martian Pink เพ็ชรเม็ดนี้หนัก 12.04 กะรัต และมีคนประมูลไปเมื่อเดือน พ.ค.2012 ไปแล้ว ในราคา 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 527 ล้านบาท คร่าวๆ ก็กะรัตละ 45 ล้านบาท

คนทั่วไปทำงานมาทั้งชีวิตยังมีเงินเก็บไม่ได้ครึ่งของ 1 กะรัตเลย

การที่เพ็ชรเม็ดนี้ขายได้ราคาสูงกว่าที่ประเมินราคาเป็นเท่าตัว แสดงว่า ไม่ว่าเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จะทำร้ายผู้คนจำนวนมากได้อย่างไร เศรษฐีตัวจริงย่อมเป็นข้อยกเว้น

เมื่อ 1 ธ.ค. 2009 แหวนเพ็ชรสีชมพูขนาด 5 กะรัต ถูกขายไปงานประมูลของ Christie’s Hong Kong ในราคา 10,776,660 ดอลลาร์สหรัฐ (334 ล้านบาท)

โอย ... กะรัตละแค่ 66 ล้านบาทเท่านั้นเอง

เป็นสถิติราคาเพ็ชรต่อกะรัตที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการประมูล โดย Vickie Sek ผู้อำนวยการ Christie’s Asia บอกว่า แหวนวงนี้เป็นดวงดาวที่ส่งประกายระยิบระยับที่สุดในงาน และ 8 ใน 10 คนที่ประมูลเพ็ชรพลอยไปได้เป็นนักสะสมชาวเอเชีย

หากเดินทางไปต่างประเทศแล้วหมั่นซอกแซก ถามไถ่ สังเกตุสังกาผู้คนกับสิ่งแวดล้อม เราก็จะได้ข้อมูลดีๆ มากมาย และสะท้อนอะไรๆ ที่เป็นของจริงได้มากกว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาอีกด้วย

อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ที่ไป South Africa คนพื้นเมืองเล่าว่าแต่ก่อนนักท่องเที่ยวจะเป็นชาติตะวันตกมากที่สุด เดี๋ยวนี้ลดลงไปมาก แต่ได้คนจีน คนอินโดเนเซีย เกาหลี และตะวันออกกลาง มาทดแทน

ส่วนร้านขายเพ็ชรเล่าว่า เดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวจากตะวันออกซื้อเพ็ชรพลอยมากกว่าคนตะวันตกแล้ว

ตอกย้ำประโยคที่ว่า ....

“คนเราจะรวยจะจนนั้น ไม่มีคงทนถาวร แต่เพ็ชรพลอย ทองคำ ซึ่งเป็นความมั่งคั่ง แม้จะเปลี่ยนมือไปได้เรื่อยๆ ก็จะไหลไปอยู่ในมือของคนรวยๆ เสมอ”

8. สุรา

มันน่าสนใจมาก เพราะเราอาจไม่ค่อยรู้กันว่า คนอเมริกันในยุคก่อนใช้วิสกี้แทนเงินในการแลกเปลี่ยนสินค้า เหมือนพวก Aztecs ใช้เมล็ดโกโก้ไปแลกสินค้าอื่นๆ แบบ Barter Trade

นอกจากนี้ นิตยสาร SWAGได้รวมไวน์เข้าไว้กับพวกแร่เงิน งานศิลปะ และทองคำ ในฐานะที่เป็นโอกาสในการลงทุนที่ช่วยต้านเงินเฟ้อได้ด้วย

และ Peter Luzer ผู้บริหากองทุนไวน์ (Wine Investment Fund) คาดว่า กองทุนของเขาจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ 12.5% ถึง 14.0% ทีเดียว

ดังนั้น การเลิกดื่มแล้วหันมาสะสมสุรากันก็น่าจะอินเทร็นด์ไม่ใช่น้อยเลย

9. เหรียญที่หาได้ยาก

เหรียญเก่าๆ หายากมักเป็นที่ต้องการของผู้สะสม ผู้มีโอกาสครอบครองไว้จึงเบาใจได้เลยว่าค่าของมันในอนาคตจะเพิ่มมากขึ้นเพราะมันผลิตเพิ่มไม่ได้ ไม่เหมือนทองคำกับแร่เงินที่ยังพอจะขุดหามาได้
อย่างราคาเหรียญทองคำ St. Gaudens รุ่น 20 ดอลลาร์สหรัฐ ยังขึ้นจากช่วงก่อน Recession ใน อเมริกา จากไม่ถึง 2,000 ดอลลาร์ มาเป็น 2,720 ดอลลาร์ในเดือนตุลาคมนี้เลย

------------------------------------------------------------------------

สำหรับตลาดไทยๆ นั้น เรายังมีอะไรน่าสะสมเพื่อรักษาอำนาจซื้อ และผลตอบแทนที่ดี ได้มากกว่านี้อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพระเครื่อง พระพุทธรูป เหรียญเก่า ผ้าทอเก่าๆ ถ้วยชามรามไหเก่าๆ ตั้งแต่ครั้งราชวงศ์โบราณ

ก็แหม ขนาดชามตราไก่ กับถาดสังกะสีลายดอกไม้ที่ใช้กันในวัด ยังป๊อบปูลาร์ในวันนี้

แต่ข้อยกเว้นในใจคุณผู้ชายมันก็มีเป็นธรรมดา

นั่นก็คือ ของเก่าๆ อย่างคุณนายที่บ้าน ไม่เคยมีราคาขึ้น มีแต่จะตกลงไปด้วยอัตราเร่งสูงสุด เหลือเชื่อจริงๆ

แถมไม่มีตลาดรอง ไม่มีสภาพคล่อง ลงทุนแล้วต้องลงทุนเลย ไม่ให้ Cut Loss ไม่ให้ Take Profit

จนบางคนถึงกับบ่นว่า .....

“ฮ้วย อย่างนี้มันก็เลยมีแต่ Take Loss กับ Cut Profit ละสิ”

ฮ่า สมน้ำหน้าค่ะ

เอาละ คิดจะลงทุนอะไร ก็อย่าลืมเรื่องสภาพคล่อง เพราะหลายอย่างไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันใจอย่างที่จำเป็นต้องใช้ ดังนั้น ต้องวางแผนให้ดีๆ

ถ้าคิดจะเดินตามรอยเศรษฐีกันละก็ อย่าลงทุนสะเปะสะปะ ให้เลือกชิ้นที่ดีที่สุดไว้ก่อน (ถ้ามีเงินพอนะ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น